ช่วยเเชร์ จ้า .....

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 แถลงข่าวประชาสัมพันธ์ ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 100 ณ อาคารศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พันเอก รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ โฆษกกองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 พร้อมด้วย พันเอก นายแพทย์ วิโรจน์ ชนม์สูงเนิน รองโฆษกฯ เป็นผู้แถลงข่าวฯ มีสาระสำคัญดังนี้.-
จากข้อมูลในการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าสถานการณ์โรคไข้มาลาเรีย ปี 2563 (วันที่ 1 มกราคม – 17 กันยายน 2563) พบผู้ป่วยในพื้นที่ 51 จังหวัด จำนวน 3,415 ราย เสียชีวิต 1 ราย จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด ได้แก่ ยะลา 1,070 ราย รองลงมาคือตาก 851 ราย และกาญจนบุรี 425 ราย ตามลำดับ ส่วนกลุ่มอายุที่พบมากที่สุด ได้แก่ อายุ 25-44 ปี (ร้อยละ 28) รองลงมาคือ 5-14 ปี (ร้อยละ 24) อายุ 45 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 21) และอายุ 15-24 ปี (ร้อยละ 21) ตามลำดับ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเกษตรกร (ร้อยละ 35) เด็ก/นักเรียน (ร้อยละ 34) และรับจ้าง (ร้อยละ 20) ตามลำดับ” แม้ว่าปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียจะลดลงมาก แต่ประเทศไทยยังมีโรคไข้มาลาเรียอยู่ โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าเขา น้ำตก โดยคาดว่าจะยังพบผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียเพิ่มขึ้นได้ในช่วงนี้ เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะสมต่อการเจริญพันธุ์ของยุงซึ่งเป็นพาหะนำโรคนี้ โรคไข้มาลาเรีย หรือมีชื่อเรียกได้อีกว่า ไข้จับสั่น ไข้ป่า ไข้ดง ไข้ร้อนเย็น ไข้ดอกสัก ไข้ป้าง โรคไข้มาลาเรีย มียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค ซึ่งเป็นยุงที่ออกหากินเวลากลางคืน สาเหตุหลักคือถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อกัด ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่อาจพบได้ เช่น จากแม่ที่ป่วยเป็นไข้มาลาเรียสู่ลูกในครรภ์ การถ่ายโลหิต เป็นต้น เมื่อยุงก้นปล่องตัวเมียกัดผู้ป่วยที่มีเชื้อ ไข้มาลาเรีย เชื้อจะอยู่ในตัวยุงประมาณ 10–12 วัน เมื่อยุงนั้นไปกัดคนอื่นต่อก็จะปล่อยเชื้อไข้มาลาเรียเข้าสู่คน จึงทำให้คนที่ถูกยุงกัดเป็นไข้มาลาเรียต่อ โดยทั่วไปอาการเริ่มแรกของไข้มาลาเรีย จะเกิดขึ้นหลังจาก ถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อกัดประมาณ 10-14 วัน โดยจะจับไข้ไม่เป็นเวลา ไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ ตาเหลือง ตับหรือม้ามโต อาจมีอาการคลื่นไส้และเบื่ออาหารได้ หลังจากนั้นจะจับไข้เป็นเวลา มีอาการหนาวๆ ร้อนๆ เหงื่อออก ผู้ป่วยจะอ่อนเพลียและเหนื่อย
แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 ได้มอบหมายให้โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่ง ในพื้นที่ภาคเหนือ ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์เพื่อเฝ้าระวังโรค ซึ่งการป้องกันโรคที่ดีที่สุด คือ การป้องกันตนเองไม่ให้โดนยุงกัด โดยสวมใส่เสื้อผ้าปกคลุมแขนขาให้มิดชิด ใช้ยาทากันยุงหรือจุดยากันยุง นอนในมุ้งชุบน้ำยาทุกคืน ใช้มุ้งชุบน้ำยาคลุมเปลเวลาต้องไปค้างคืนในไร่นาป่าเขา
ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ มีอาการป่วยดังกล่าวภายหลังมีประวัติเคยเข้าไปในป่า, อาศัยอยู่ในป่าในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ถึง 2 เดือนก่อนเริ่มป่วย, มีอาการบ่งชี้ของโรคตามขั้นต้น หรือสงสัยว่าป่วยด้วยโรคไข้มาลาเรีย ขอให้ได้ไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลทหาร หรือโรงพยาบาลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้านโดยเร็ว หรือสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร.1422

772 เยี่ยมชมหน้านี้ทั้งหมด 2 เยี่ยมชมวันนี้

By Aui

error: สวัสดีค่ะ