ช่วยเเชร์ จ้า .....

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 แถลงข่าวประชาสัมพันธ์ ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 108 ณ อาคารศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พันเอก รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ โฆษกกองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 พร้อมด้วย พันเอก นายแพทย์ วิโรจน์ ชนม์สูงเนิน รองโฆษกฯ เป็นผู้แถลงข่าวฯ มีสาระสำคัญดังนี้

จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ปี 2561 พบคนไทยป่วยโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านคน ขณะที่ทั่วโลกพบว่ามีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากว่า 300 ล้านคน โรคซึมเศร้ามีปัจจัยหลายอย่างที่ไม่ใช่ความอ่อนแอท้อแท้เชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง เซโรโทนิน ที่มีบทบาทสำคัญต่อการทำงานในหลายๆ ส่วนของร่างกาย ทั้งด้านการควบคุมอารมณ์ มีปริมาณลดลงส่งผลทำให้มีอาการป่วยทั้งร่างกาย จิตใจ ตลอดจนความรู้สึกนึกคิดที่อันตรายกระทบต่อชีวิต และนำความคิดสู่การทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตาย
สาเหตุของโรคซึมเศร้าเกิดได้หลายสาเหตุ ดังนี้
1. กรรมพันธุ์
2. พัฒนาการของจิตใจและสิ่งแวดล้อมมีแต่ความเครียดหนัก เช่น การเรียน การสอบ การพบเจอมรสุมชีวิต
3. เจ็บป่วยเรื้อรังจนหมดกำลังใจหรือพบกับความสูญเสียคนรัก ครอบครัว
4. ปัญหาเรื่องการเงิน ตกงาน
5. ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดไม่ราบรื่น ทั้งหมดทั้งมวลยิ่งบ่อยยิ่งเพิ่มโอกาสที่เป็นปัจจัยทางชีวภาพเกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับสารเคมีในสมองบางตัวส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้า
อาการโรคซึมเศร้าของผู้ป่วย สิ่งแรกคืออาการอารมณ์เศร้าหมอง ท้อแท้ เบื่อหน่าย หดหู่ ขาดความสนใจความสนุกสนาน ผู้ป่วยจะมีอารมณ์หงุดหงิด วิตกกังวล ต่อมาร่างกายจะโต้ตอบช้า เคลื่อนไหวเชื่องช้า ปวดหัว ปวดตามกล้ามเนื้อหรือปวดท้อง สีหน้าเศร้าหมอง สะเทือนใจง่าย นอนได้น้อย ไม่อยากอาหาร ความต้องการทางเพศลดลง ขณะที่การเปลี่ยนแปลงทางด้านความรู้สึกนึกคิดสมาธิและความจำลดลง สูญเสียความมั่นใจตัวเอง คิดวนเวียนแต่เรื่องในแง่ร้าย หมดหวังในอนาคต มีความคิดหรือการกระทำที่จะทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตาย
ความรุนแรงจะยิ่งเพิ่มแนวโน้มของตัวโรคสูงขึ้นในกรณีโรคเกิดขึ้นกับคนอายุน้อย คนที่มีนิสัยชอบแยกตัวอยู่คนเดียว คนที่ขาดคนที่เข้าใจและใส่ใจดูแล มีปัญหาการใช้สารเสพติด มีกรรมพันธุ์ที่เป็นโรคทางจิตเวชร่วมหรือผู้ที่ป่วยด้วยโรคทางจิตเวช โรคทางสมอง และโรคทางกายที่รุนแรงอื่นๆ ร่วมด้วย ผู้ที่เคยมีประวัติซึมเศร้าอยู่เดิมแต่ไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยที่มีอาการ “ดิ่ง” อาการเรียกของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่อยู่ในช่วงควบคุมอารมณ์ได้ลำบากและมีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง อาจทำให้มีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายสูงขึ้นอีกด้วย
แนวทางการรักษาโรคซึมเศร้า ในปัจจุบันนิยมรักษาโดยการทำจิตบำบัดรายบุคคล และการทำจิตบำบัดร่วมกับรับประทานยาแก้โรคซึมเศร้า (Antidepressant Drugs) เพื่อลดความกังวลและทำให้อารมณ์หายซึมเศร้า โดยตัวยาจะช่วยไปปรับสมดุลของเซโรโทนิน ทำให้อารมณ์ค่อยๆ แจ่มใสขึ้นใน 2-3 สัปดาห์แรก และต้องใช้เวลา 30-90 วัน เพื่อให้ยาออกฤทธิ์เต็มที่ การรักษาต่อเนื่องประมาณ 2 ปี ผู้ป่วยที่ปฏิบัติรักษาก็จะหายขาดและกลับมีชีวิตที่เต็มไปด้วยความสุข ซึ่งหากทุกคนเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ก่อให้เกิดอาการป่วย ไม่ใช่ความอ่อนแอของตัวบุคคล ก็จะช่วยกันรักษาโรคร้ายนี้ให้หายไปได้


ในการนี้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 มีความห่วงใยต่อข้าราชการทหาร ในสังกัดกองทัพภาคที่ 3 และพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ จึงได้มอบหมายให้โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่ง ในพื้นที่ภาคเหนือ ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ เพื่อเฝ้าระวังภาวะโรคซึมเศร้า ซึ่งหากพบว่าตนเองหรือคนรอบข้างมีอาการบ่งชี้ หรือสงสัยว่าป่วยดังอากการตามขั้นต้น ขอให้ได้ไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือ หรือโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อคัดกรอง วินิจฉัย และรักษาต่อไป

1271 เยี่ยมชมหน้านี้ทั้งหมด 2 เยี่ยมชมวันนี้

By Aui

error: สวัสดีค่ะ