ช่วยเเชร์ จ้า .....

วันที่ 15 ธันวาคม 2563 กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 แถลงข่าวประชาสัมพันธ์ ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 112 ณ ศูนย์เพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดพระราชทาน“เพื่อนช่วยเพื่อน” พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง (หน่วยรับผิดชอบ กรมทหารปืนใหญ่ที่ 4) ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พันเอก รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ โฆษกกองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 พร้อมด้วย พันเอก นายแพทย์ วิโรจน์ ชนม์สูงเนิน และ
พันโท หญิง บุณฑริกา ฑีฆวาณิช รอง โฆษกฯ เป็นผู้แถลงข่าวฯ มีสาระสำคัญดังนี้
ปัจจุบัน สถานการณ์ของโรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) ทั่วโลกมีแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้น เพราะเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตของคนทั่วโลกถึง 9.4 ล้านคน และยังพบว่าเป็นสาเหตุของการเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น เช่นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง และภาวะหัวใจล้มเหลวได้ถึงร้อยละ 50 มีรายละเอียดดังนี้

1. อาการของโรคความดันสูง
โรคความดันสูงส่วนใหญ่ไม่ค่อยแสดงอาการผิดปกติ ยกเว้นในผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันสูงระยะรุนแรงก็อาจมีอาการแสดง เช่น ปวดศีรษะบริเวณท้ายทอย หายใจสั้น เลือดกำเดาไหล ตาพร่ามัว ใจสั่น เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย แขนขาอ่อนแรง ขาบวม ซึ่งอาการเหล่านี้ยังถือว่าเป็นอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจงและบอกไม่ได้ชัดเจน หรือในบางรายทราบเมื่อตรวจพบภาวะแทรกซ้อนจากโรคความดันสูงขึ้นแล้ว ทำให้ต้องหมั่นมีการตรวจสุขภาพและวัดค่าความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ จึงทำให้โรคนี้ถูกเรียกว่าเป็นฆาตกรเงียบ ที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้อย่างไม่ทันระวังตัว
2. สาเหตุของโรคความดันสูง
โรคความดันสูง แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
2.1 ชนิดที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด (Primary Hypertension หรือ Essential Hypertension) ซึ่งไม่สามารถระบุถึงต้นเหตุการเกิดได้
2.2 ชนิดที่ทราบสาเหตุ (Secondary Hypertension) ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสภาวะ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โรคไต ปัญหาต่อมไทรอยด์ เนื้องอกที่ต่อมหมวกไต หลอดเลือดผิดปกติแต่กำเนิด การใช้ยาบางชนิด การใช้สารเสพติด หรือแอลกอฮอล์
3. การวินิจฉัยโรคความดันสูง
แพทย์จะวินิจฉัยโรคความดันสูงโดยดูจากการวัดค่าความดันโลหิตของผู้ป่วยเป็นหลัก และมีการตรวจวัดหลายครั้ง เพื่อความแม่นยำของผลการตรวจ ซึ่งค่าความดันโลหิตที่วัดได้จะแบ่งออกเป็น 2 ค่า โดยตัวแรก (หรือตัวบน) เรียกว่า ค่าความดันซิสโตลิก (Systolic) เป็นความดันโลหิตในหลอดเลือดแดงขณะที่หัวใจบีบตัวและตัวที่สอง (หรือตัวล่าง) เรียกว่า ค่าความดันไดแอสโทลิก (Diastolic) เป็นค่าความดันโลหิตในหลอดเลือดแดงขณะหัวใจคลายตัว คำนิยามของโรคความดันสูงว่าเป็นภาวะที่ตรวจพบความดันเลือดในหลอดเลือดแดงสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป
4. ภาวะแทรกซ้อนของโรคความดันสูง
หากปล่อยให้เกิดโรคความดันสูงเป็นระยะเวลานานและดูแลรักษาสุขภาพไม่ถูกต้อง อาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา โดยมักจะพบโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดแดง โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง โรคไตเรื้อรัง เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสมองในด้านความจำ มีปัญหาทางด้านสายตา หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจ ขาดเลือดเฉียบพลัน ก่อให้เกิดความเสียหายจนถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งมีสาเหตุทั้งจากโรคความดันสูงโดยตรง หรือ โรคแทรกซ้อนที่ร้ายแรง
5. การรักษาโรคความดันสูง
5.1 ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในด้านการรับประทานอาหารเบื้องต้น โดยการลดอาหารประเภทโซเดียมสูง(เกลือแกงไม่เกิน1ช้อนชา/น้ำปลาไม่เกิน1ช้อนโต๊ะต่อวัน) เน้นรับประทานผักและผลไม้ที่มีกากใยสูง ธัญพืช ปลาที่อุดมไปด้วยกรดไขมันที่ดีต่อร่างกาย หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อแดง ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ(120นาทีต่อสัปดาห์)
5.2 การใช้ยาร่วมด้วย เพื่อช่วยปรับค่าความดันโลหิตให้ลดลงอยู่ในระดับปกติ ทั้งนี้การรักษายังต้องคำนึงถึงชนิดของโรคด้วย เพราะหากเป็นชนิดที่ทราบสาเหตุ ผู้ป่วยมีโอกาสในการรักษาหายได้มากกว่าชนิด ที่ไม่ทราบสาเหตุ
6. การป้องกันโรคความดันสูง
การควบคุมความดันโลหิตในระยะยาวสามารถทำได้โดยการปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ทั้งในเรื่องของการรับประทานอาหาร ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่สูบบุหรี่ และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติเป็นพื้นฐาน รวมไปถึงการหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำเพื่อตรวจดูว่าความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ


ในการนี้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 มีความห่วงใยต่อข้าราชการทหาร ในสังกัดกองทัพภาคที่ 3 และพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ จึงได้มอบหมายให้โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่ง ในพื้นที่ภาคเหนือ ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ เพื่อเฝ้าระวัง โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งหากพบว่าตนเองหรือคนรอบข้าง มีอาการบ่งชี้ หรือสงสัยว่าป่วยด้วยโรคตามขั้นต้น ขอให้ได้ไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือ หรือโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อคัดกรอง วินิจฉัย และรักษาต่อไป

1022 เยี่ยมชมหน้านี้ทั้งหมด 2 เยี่ยมชมวันนี้

By Aui

error: สวัสดีค่ะ