ช่วยเเชร์ จ้า .....

วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 แถลงข่าวประชาสัมพันธ์ ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 141 ณ ศูนย์เสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พันเอก นายแพทย์ วิโรจน์ ชนม์สูงเนิน รองโฆษกกองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 เป็นผู้แถลงข่าวฯ มีสาระสำคัญดังนี้


ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ภาวะผิดปกติจากการพนัน หรือเสพติดการพนัน (Gambling Addiction) กลไกการเสพติดพนัน มีผลกระตุ้นสมองส่วนระบบการให้รางวัล (Brain’s Reward System) เช่นเดียวกับยา หรือแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการติดการพนัน การทำงานของสมองของผู้ติดการพนันมีลักษณะที่ต่างจากคนทั่วไป มีการทำงานของสารสื่อประสาทในสมองโดปามีนเสียสมดุล การเสพติดการพนันในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ในขณะที่เพศหญิงจะเล่นเพื่อหลีกหนีปัญหาชีวิตมากกว่า ในขณะที่เพศชายมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาร่วมกับภาวะติดเหล้าหรือทำสิ่งผิดกฎหมายมากกว่า การติดการพนันก่อให้เกิดความบกพร่องในชีวิตทั้งทางด้านจิตใจ ร่างกาย สังคม หรืออาชีพอย่างรุนแรง มีผลกระทบต่อครอบครัวทั้งในแง่ความสัมพันธ์และการเงิน คนทั่วไปที่เล่นการพนันอาจเล่นเพราะรู้สึกสนุกกับการที่ได้เสี่ยง หรือลุ้นที่จะชนะพนัน ในขณะที่บางคนเล่นเพื่อทำให้อารมณ์ตนเองดีขึ้น หรือเพื่อหลีกหนีจากปัญหามรสุมในชีวิต โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน การพนันด้วยระบบออนไลน์ ได้มีอยู่ในระบบ Social Media อย่างแพร่หลาย ซึ่งนอกจากจะเกิดปัญหาต่อตนเองและสังคมโดยรวมแล้ว ยังคงผิดต่อกฎหมายบ้านเมืองอีกด้วย


จากการศึกษาพบว่ามีนักพนันประมาณ ร้อยละ 8 – 47 ติดสารเสพติดชนิดอื่น เช่น บุหรี่ เหล้า กัญชา ร่วมด้วย และพบกลุ่มอาการทางจิตเวชได้มากกว่าคนทั่วไป เช่น ปัญหาบุคลิกภาพโดยเฉพาะบุคลิกภาพแบบอันธพาล อาการซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย โดยพบการพยายามฆ่าตัวตายได้มากถึง ร้อยละ 15 – 20 ของผู้ติดการพนัน สำหรับอาการแสดงของการติดการพนันตามเกณฑ์การวินิจฉัย ดังนี้
1. รู้สึกกระสับกระส่าย หรือหงุดหงิดง่ายเวลาพยายามหยุด หรือลดการเล่นพนัน
2. ความสัมพันธ์กับบุคคลสำคัญ โอกาสในด้านการงาน การเรียน หรืออาชีพเสียไปเพราะการพนัน
3. หลังจากเสียเงินพนันแล้ว ได้พยายามที่จะกลับไปเล่น เพื่อเอาเงินคืนบ่อยครั้ง
4. เล่นการพนันเพื่อหาทางออกจากปัญหา หรือให้มีความรู้สึกที่ดีขึ้นจากความรู้สึกไม่สบายใจ
5. ต้องให้บุคคลอื่นหาเงินมาช่วยให้พ้นจากการเป็นหนี้พนัน
6. ทำผิดกฎหมาย เช่น ปลอมแปลงเอกสาร ขโมยของ เพื่อให้ได้เงินมาใช้หนี้พนัน
7. พยายามที่จะควบคุม ลด หรือ หยุดการเล่นพนันแต่ทำไม่สำเร็จบ่อยครั้ง
8. พนันด้วยการเพิ่มปริมาณเงินมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้คงความรู้สึกตื่นเต้นเช่นเดิมไว้
9. โกหกครอบครัว แพทย์ผู้รักษา หรือ บุคคลอื่นเพื่อปกปิดการเล่นพนันของตนเอง
10. ครุ่นคิดถึงแต่การพนันอย่างมาก ทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับประสบการณ์การเล่นพนันในอดีตของตนเอง ว่าเล่นได้หรือเสียอย่างไร รวมไปถึงการวางแผนล่วงหน้าว่าจะทำอย่างไรให้ชนะในคราวต่อไป หรือ คิดวิธีหาเงินเพื่อจะนำไปใช้ในการพนันครั้งต่อไป


หากท่านมีอาการข้างต้น 5 ข้อหรือมากกว่า แสดงว่าติดการพนัน แต่หากมี 3 หรือ 4 อาการ จัดว่าเป็นผู้มีปัญหาเกี่ยวกับการพนัน และหากมีเพียง 1 หรือ 2 ข้อ จะจัดเป็นผู้เล่นพนันที่มีความเสี่ยง
แม้ว่าการติดการพนันจะเป็นภาวะเรื้อรัง และมักจะกลับเป็นซ้ำได้บ่อยๆ แต่ก็เป็นภาวะที่สามารถรักษาได้ เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy) การให้คำปรึกษา (Counseling) และอาจให้การรักษาด้วยยาคลายกังวล ยาต้านเศร้า ร่วมด้วย ซึ่งการใช้ยาร่วมกับพฤติกรรมบำบัดจะให้ผลการรักษาออกมาดีที่สุด
ในการนี้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 มีความห่วงใยต่อข้าราชการทหาร ในสังกัดกองทัพภาคที่ 3 และพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ต่อภาวะผิดปกติจากการพนันดังกล่าว ซึ่งหากพบว่าตนเองหรือ คนรอบข้างมีอาการบ่งชี้ หรือสงสัยว่ามีภาวะผิดปกติ ขอให้ได้ไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือ หรือโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อคัดกรอง วินิจฉัย และรักษาต่อไป

609 เยี่ยมชมหน้านี้ทั้งหมด 2 เยี่ยมชมวันนี้

By Aui

error: สวัสดีค่ะ