ด้วยอิทธิพลจากพายุโซนร้อน ในห้วงเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดอุทกภัยในหลายจังหวัด ส่วนในบางพื้นที่ยังคงมีประชาชนประสบภัยน้ำท่วมยังรอการระบาย ภาพรวมสถานการณ์ปัจจุบันหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำอยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ นั้น
ทั้งนี้ น้ำท่วมในระยะแรกอาจยังไม่มีเชื้อโรคมาก แต่เมื่อกลายเป็นน้ำขังก็จะสกปรกและมีเชื้อโรคมากขึ้น น้ำจึงเป็นที่มาของเชื้อโรคชนิดต่างๆ และหากต้องเดินย่ำน้ำแต่ละวันเป็นเวลานาน ก็จะยิ่งมีโอกาสป่วยด้วยโรคที่มากับน้ำท่วมมากขึ้น เช่น “โรคน้ำกัดเท้า” เพราะความชื้นของน้ำที่ทำให้เชื้อราเจริญเติบโตได้ดี เท้าที่ไม่สะอาดของเราเมื่อโดนน้ำเป็นเวลานาน ก็อาจจะเป็นที่อยู่ของเชื้อราได้ และเกิดการหมักหมมในที่สุด
ลักษณะอาการ
1. ผื่นคัน เกิดจากการย่ำน้ำ แล้วเกิดระคายเคือง มีอาการเป็นผื่นหรือตุ่มคันที่บริเวณที่สัมผัสน้ำ มักขึ้นพร้อมกันหลายจุด
2. โรคเชื้อรา เกิดจากการติดเชื้อรา จะมีอาการเป็นผื่นเปื่อยยุ่ย สีขาวที่ง่ามนิ้วเท้า ฝ่าเท้า อาจมีอาการคัน
3. โรคน้ำกัดเท้า เกิดจากการแช่เท้าในน้ำนาน ๆ จนมีการติดเชื้อตามมา โดยจะมีอาการผิวหนังเปื่อยยุ่ย ลอกเป็นขุยหรือเป็นแผ่น คันตามซอกนิ้วเท้า ต่อมามีผื่นพุพอง ผิวหนังอักเสบบวมแดง เป็นหนอง
การป้องกัน
1. ควรสวมรองเท้าบูทกันน้ำทุกครั้ง เมื่อจำเป็นต้องลุยน้ำ
2. ควรระวังไม่ให้ถูกยุงกัด
3. ใช้ขี้ผึ้งวาสลีน ขี้ผึ้งรักษากลากเกลื้อน หรือจาระบีทาเท้าและง่ามนิ้วเท้าให้ทั่วทั้งสองข้างเมื่อต้องลุยน้ำ
4. เมื่อขึ้นจากน้ำ ล้างเท้าให้สะอาดด้วยน้ำ ฟอกสบู่ และซับให้แห้งทันที
ในการนี้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 และแพทย์ทหาร จึงมีความห่วงใยต่อข้าราชการทหาร ในสังกัดกองทัพภาคที่ 3 และพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ที่ประสบอุทกภัยและมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพขั้นต้น ซึ่งหากพบว่าตนเองหรือคนรอบข้างมีอาการบ่งชี้ หรือสงสัยว่ามีภาวะหรืออาการขั้นต้น ขอให้ได้ไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือ หรือโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อคัดกรอง วินิจฉัย และรักษาต่อไป
********************************
คณะบรรณาธิการข่าว กองทัพภาคที่ 3
28 ตุลาคม 2564