ข้อมูลจาก สมาคมโรคเบาหวานนานาชาติ (International diabetes federation) ได้มีการคำนวณไว้ว่าจะมีประชากรโลกอายุระหว่าง 20-79 ปี ที่เป็นโรคเบาหวานถึงร้อยละ 9.3 ซึ่งเป็นจำนวน 463 ล้านคน ทั่วโลก และมีคนป่วยเบาหวานกว่าครึ่งหนึ่ง ที่ยังไม่ตระหนักถึงสภาวะโรค และอาการแทรกซ้อนที่เกิดจากเบาหวาน และยังมีประชากรอีกมากที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัย และรับการรักษาที่เหมาะสมและเพียงพอ ซึ่งในประเทศไทยเราเอง ก็ยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีตัวเลขผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่ เพิ่มมากขึ้นถึง 300,000 คนต่อปี และดูเหมือนว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากวิถีการใช้ชีวิต และรับประทานอาหาร
จากสถิติของการเสียชีวิตจากโรคเบาหวาน ในอันดับหนึ่งเลย คือ การเสียชีวิต และทุพพลภาพจากโรคหัวใจและหลอดเลือด นำมาซึ่งความสูญเสียและคุณภาพชีวิตที่แย่ลง จึงมีการรณรงค์การสังเกตสัญญาณเตือนภัยจากโรคเบาหวาน ซึ่งสามารถสังเกตอาการพื้นฐานได้ด้วยตนเอง จาก 6 สัญญาณ ดังนี้
สัญญาณเตือนที่ 1 ปัสสาสะบ่อย เมื่ออินซูลินผลิตได้ไม่เพียงพอ ระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้น ไตไม่สามารถกรองน้ำตาลได้จึงปล่อยออกมากับปัสสาวะ
สัญญาณเตือนที่ 2 กระหายน้ำ เมื่อร่างกายสูญเสียน้ำจากการปัสสาวะบ่อยครั้ง ร่างกายจึงต้องมีการชดเชยน้ำที่เสียไปทำให้กระหายน้ำ และดื่มน้ำมาก
สัญญาณเตือนที่ 3 หิวบ่อย/กินจุ เมื่อร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลินหรือ อินซูลินไม่ทำงาน ร่างกายจึงขาดแคลนแหล่งพลังงาน จึงแสดงออกมาด้วยอาการหิว
สัญญาณเตือนที่ 4 น้ำหนักลด พออินซูลินมีไม่เพียง ร่างกายไม่สามารถเปลี่ยนน้ำตาลเป็นพลังงานได้ให้ร่างกายนำไปใช้ได้ ร่างกายจึงไปสลายเอาโปรตีน และไขมันน้ำหนักจึงลดลง
สัญญาณเตือนที่ 5 เป็นแผลง่ายและหายยาก การมีนำตาลในเลือดที่มากเกินไป เป็นผลในการซ่อมแซมแผลได้ช้าลง
สัญญาณเตือนที่ 6 ชาตามปลายมือปลายเท้าคล้ายเข็มทิ่ม เนื่องจากเส้นประสาทได้รับการทำลายจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงนั่นเอง
นอกจากการสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณเตือน ทั้ง 6 แล้ว โรคเบาหวานสามารถป้องกันได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยง โดยเริ่มจากการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมระดับไขมันและน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เลิกสูบบุหรี่ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยง ในการเกิดโรคเบาหวานได้
ในการนี้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 และแพทย์ทหาร จึงมีความห่วงใยต่อข้าราชการทหาร ในสังกัดกองทัพภาคที่ 3 และพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ต่อโรคภัยดังกล่าว ซึ่งหากพบว่าตนเองหรือคนรอบข้างมีอาการบ่งชี้ หรือสงสัยว่าป่วย ดังอากการตามขั้นต้น ขอให้ได้ไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือ หรือโรงพยาบาล ของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อคัดกรอง วินิจฉัย และเข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็ว
********************************
คณะบรรณาธิการข่าว กองทัพภาคที่ 3
29 ธันวาคม 2564