ช่วยเเชร์ จ้า .....

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นประธานในพิธีเปิดสะพานพระราชวังจันทน์ อ.เมือง พิษณุโลก พร้อมทำพิธีปล่อยขบวนรถอำนวยความปลอดภัยการจราจรในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565

 

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 ธันวาคม 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เดินทางเป็นประธานในพิธีเปิดสะพานพระราชวังจันทน์ อ.เมือง พิษณุโลก โดยมี นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วย ดร.เปรมฤดี ชามพูนท นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก และหัวหน้าส่วนราชการให้การต้อนรับ สำหรับ สะพานพระราชวังจันทน์ เป็นโครงการตามแผนงานของเทศบาลนครพิษณุโลกในการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำน่านเพื่อการท่องเที่ยว เชื่อมระหว่างวัดพระพุทธชินราชกับพระราชวังจันทน์ โดยได้รับการสันบสนุนงบประมาณจากกรมทางหลวงชนบท จำนวน 79 ล้านบาท เป็นสะพานเหล็ก (Steel Arch Bridge) มีโครงเหล็กที่โค้งแบบพาราโบล่า ช่วยรับน้ำหนักพื้นสะพาน โดยถ่ายแรงผ่านสายเคเบิล ส่งผลให้โครงสร้างรับพื้นสะพานมีความหนาลดลงมาก ทำให้ช่องลอดในแนวดิ่งมากกว่าสะพานเหนือน้ำและท้ายน้ำ ความยาวสะพาน 116 เมตร โครงสร้างพื้นผิวจราจรเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ผิวจราจรกว้าง 7 เมตร มีทางเท้ากว้างข้างละ 3 เมตร แบ่งเป็นเส้นทางจักรยาน 1.50 เมตรและทางเดินเท้ากว้างข้างละ 1.50 เมตร

ดร.เปรมฤดี ชามพูนท นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก กล่าวว่า โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำน่านเพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารและพระราชวังจันทน์ เป็นโครงการที่เทศบาลนครพิษณุโลกร่วมกับกรมทางหลวงชนบท มีแนวคิดในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ให้เชื่อมต่อวัด-วัง (วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร-พระราชวังจันทน์) เพิ่มคุณค่าทางมรดกแห่งเมืองสองแควผ่านความงดงามและมนต์เสน่ห์ของแม่น้ำน่าน โดยการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำน่านเพื่อการท่องเที่ยวเริ่มจากถนนพุทธบูชาบริเวณด้านทิศใต้ของโรงน้ำแข็งโกล์ไอซ์ ข้ามไปอีกฝั่งของลำน้ำเชื่อมกับถนนวังจันทน์ ตรงทางเข้าศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์

ความเป็นมาในการก่อสร้างสะพาน เทศบาลนครพิษณุโลกได้เป็นผู้ริเริ่มแผนงานโครงการ ประสานงานกับ กรมทางหลวงชนบท ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการออกแบบและดำเนินการก่อสร้างทั้งหมด โดยร่วมกันดำเนินการเปิดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน (เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2559 ที่โรงแรมท็อปแลนด์) ตลอดจนขั้นตอนการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ตามระเบียบของกฎหมายจนเสร็จสิ้นทั้งหมด โดยเทศบาลนครพิษณุโลกได้ดำเนินการจัดทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) ซึ่งได้รับการรับรองผลการประเมินที่ได้รับความเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว ทางกรมทางหลวงชนบทจึงตั้งงบประมาณดำเนินการก่อสร้างตามแผนงานที่เตรียมไว้ และเมื่อก่อสร้างเรียบร้อยและทำพิธีเปิดแล้ว จะมีการส่งมอบสะพานดังกล่าวให้เทศบาลนครพิษณุโลกเป็นหน่วยงานดูแลบำรุงรักษาต่อไป

โครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมต่อวัด-วัง ในครั้งนี้ไม่ได้คำนึงแต่เพียงความสะดวกในการสัญจรเชื่อมแหล่งท่องเที่ยว แต่ยังคำนึงถึงอัตลักษณ์และคุณค่าของความเป็นไทยที่ต้องพัฒนาควบคู่กันโดยเน้นการออกแบบสถาปัตยกรรมให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม มีเอกลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ และมีกลิ่นอายของเมืองสองแควอยู่อย่างเปี่ยมล้น สะพานแห่งนี้จะเป็นจุดแลนด์มาร์คสำคัญอีกแห่งหนึ่งของเมืองพิษณุโลก

513 เยี่ยมชมหน้านี้ทั้งหมด 2 เยี่ยมชมวันนี้

By Aui

error: สวัสดีค่ะ