ช่วยเเชร์ จ้า .....

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก และต่อเนื่องส่งผลต่อการเกิดโรคตับ โดยระยะแรกเกิดภาวะไขมันพอกตับจากแอลกอฮอล์ (Alcoholic fatty Liver Disease) ซึ่งระยะนี้มักไม่มีอาการ และถ้าหยุดดื่ม ตับสามารถกลับมาปกติได้ใน 4-6 สัปดาห์ ถ้ายังดื่มต่อเนื่อง ร้อยละ 20-40 ของผู้ป่วยจะเกิดตับอักเสบเรื้อรัง (Alcoholic Steatohepatitis) และพังผืด (Fibrosis) ในเนื้อตับและร้อยละ 20 เข้าสู่ภาวะตับแข็ง (Alcoholic Cirrhosis) ในเวลาประมาณ 10 ปี
ในระยะตับแข็งเริ่มต้น (Compenstaed Cirrhosis) ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย พยาธิสภาพในตับมีพังผืดเกิดขึ้นในเนื้อตับปริมาณมากขึ้น ทำให้ตับมีลักษณะรูปร่างเปลี่ยนแปลงและการทำงานลดลงเข้าสู่ตับแข็งระยะท้าย (decompensated cirrhosis) จะมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ดีซ่าน ท้องมาน (Ascites) ขาบวม ขาดสารอาหาร ซึมสับสน (Hepatic Encephalopathy) อาเจียนเป็นเลือดจากเส้นเลือดขอดในทางเดินอาหาร ไตวาย ติดเชื้อง่ายและเสียชีวิตในที่สุด มีการศึกษาติดตามผู้ป่วยตับแข็งจากแอลกอฮอล์นาน 5, 10, 15 ปี พบว่าอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 71, 84 และ 90 ตามลำดับ ปัจจัยสำคัญทำให้เสียชีวิตคืออายุมาก และยังดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ในผู้ป่วยตับแข็งและเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ท้องมาน หรือเลือดจากเส้นเลือดขอดในทางเดินอาหาร หรือมีอาการซึมสับสน พบว่าภายใน 1 ปี มีโอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 49 ในและร้อยละ 64 ตามลำดับ ผู้ป่วยในระยะตับแข็งจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ ติดตามผู้ป่วยตับแข็งในระยะเริ่มต้นนาน 5 ปี อัตราการเกิดมะเร็งตับ ร้อยละ 2.6 ต่อปี และจาก Meta-Analysis พบว่าถ้าหยุดดื่มแอลกอฮอล์โอกาสเป็นมะเร็งตับลดลงถึง ร้อยละ 6-7 มีอีกภาวะที่อาจเกิดขึ้นในผู้ที่ดื่มต่อเนื่อง คือภาวะตับอักเสบเฉียบพลัน (Alcoholic hepatitis) พบประมาณร้อยละ 20-40 มักจะเกิดขึ้นในคนที่ดื่มประจำอยู่แล้ว และมาดื่มหนักๆในช่วงสั้นเช่นวันหยุด และเทศกาลต่างๆ หรือมีภาวะติดเชื้อร่วมด้วย อาการมีตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงตับวาย (Acute-On-Chronic Liver Failure หรือ ACLF) อาการที่พบได้แก่ อาการไข้ ปวดท้อง ตับโต คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ดีซ่าน น้ำหนักลด ท้องบวม ขาบวม สับสน อาเจียนเป็นเลือด ติดเชื้อง่าย ไตวายเฉียบพลัน และ ในคนที่มีอาการรุนแรงตับวายมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 10-72 ทั้งนี้ มีหลายปัจจัยที่จะทำให้เกิดโรคตับจากแอลกอฮอล์ เช่น ปริมาณที่ดื่ม พบว่าผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ วันละ 30-60 กรัมต่อวันมีความชุกต่อการเกิดตับแข็งน้อยกว่าน้อยกว่า 120 กรัมต่อวันคิดเป็นร้อยละ 1 และ 5.7 ตามลำดับ ผู้หญิงมีโอกาสตับแข็งมากกว่าผู้ชาย มีการศึกษาในผู้หญิงกว่า 400,000 คนติดตามไป 15 ปี พบว่าผู้ที่ดื่มมากกว่า 15 Standard Drinks (220 กรัม) ต่อสัปดาห์เกิดภาวะตับแข็งมากกว่าผู้ที่ดื่ม 1-2 Standard Drinks (30 กรัม) ต่อสัปดาห์ถึง 3.43 เท่า และถ้าดื่มแอลกอฮอล์โดยไม่รับประทานอาหารร่วมด้วยจะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะตับแข็ง 2.47 เท่า ปัจจัยทางพันธุกรรมเช่น ยีนส์ PNPLA3, TM6SF2, MBOAT7, HSD17B13 เชื้อชาติเอเชียและตะวันตก สูบบุหรี่ คนอ้วนรวมทั้งคนที่มีโรคตับอยู่ก่อนแล้วเช่น ไวรัสตับอักเสบบี ซี ธาตุเหล็กเกิน มีข้อมูลที่ดีสำหรับผู้ชอบดื่มกาแฟ พบว่า การดื่มกาแฟมีส่วนลดการเกิดโรคตับจากแอลกอฮอล์ได้
การรักษาโรคตับจากแอลกอฮอล์
1. หยุดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในระยะไขมันพอกตับ ถ้าหยุดดื่มตับกลับจะกลับสู่ภาวะปกติ ภายใน 4-6 สัปดาห์ ระยะตับอักเสบเรื้อรังการหยุดดื่มจะลดความเสี่ยงต่อการเกิดตับแข็งและภาวะแทรกซ้อน เช่น เลือดออกจากเส้นเลือดขอดในหลอดอาหาร ท้องมาน อาการทางสมอง ตับอักเสบเฉียบพลัน มะเร็งตับและ ลดอัตราการเสียชีวิตในผู้ที่ดื่มจัดต่อเนื่องเป็นเวลานานและต้องการหยุดดื่ม ควรพบแพทย์เพื่อให้คำแนะนำและรักษาอย่างถูกต้อง เพราะการหยุดดื่มทันทีอาจเกิดภาวะถอนพิษสุรา (Alcohol Withdrawal Syndrome) มักเกิดในระยะ 24-72 ชั่วโมงหลังหยุดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาการที่พบได้แก่ ตัวสั่น มือสั่นหงุดหงิด คลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ ชีพจรเร็ว เหงื่อออกมาก ความดันโลหิตขึ้นสูง อาการรุนแรงมากสุดในช่วง 24-48 ชั่วโมง แล้วค่อยๆ ลดลงจนปกติภายใน 5-7 วัน บางรายอาจมีอาการรุนแรงเช่น ชัก (Alcohol Withdrawal Seizure) มักเกิดในช่วง 7-48 ชั่วโมงหลังจากหยุดดื่มสุรา อาการทางจิตประสาท (Alcohal Withdrawal Delirium) รวมทั้งอาจเกิดหูแว่ว ภาพหลอน (Alcohol Hallucinosis)
2. รับประทานอาหารอย่างครบถ้วนเพียงพอ ผู้ป่วยโรคตับโดยส่วนใหญ่มักจะมีปัญหาทุพโภชนาการหรือขาดสารอาหาร ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดภาวะติดเชื้อง่ายและมีอัตราการเสียชีวิตสูง แนะนำให้ได้รับพลังงาน ที่เพียงพอ โดยรับประทานประมาณ 35-40 kcal ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมและปริมาณโปรตีน 1.2 -1.5 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม กรณีที่มีภาวะตับวายและมีอาการทางสมองอาจลดปริมาณโปรตีนลงชั่วคราวและเลือกโปรตีนเสริมที่เป็นกรดอะมิโนโซ่กิ่ง (Branch Chain Amino Acid) หลังจากอาการทางสมองดีขึ้น จึงเพิ่มปริมาณโปรตีน ทั้งนี้อาหารต้องให้ครบ 5 หมู่ สุกและสะอาด รวมทั้งเพิ่มเติมวิตามิน เกลือแร่ที่มักขาดในผู้ป่วยเช่น วิตามินบี 1 สังกะสี (Zinc) ในกรณีที่มีอาการเบื่อหรือท้องมานผู้ป่วยจะทานอาหารได้ไม่มาก แนะนำให้ทานแบ่งเป็น 4-5 มื้อต่อวันรวมทั้งมีอาหารเสริมระหว่างมื้อ (อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคตับจะได้กล่าวในบทความต่อไป)
3. การรักษาด้วยยา ปัจจุบันไม่ได้มียารักษาโรคตับจากแอลกอฮอล์ การรักษาที่ดีที่สุด คือ การหยุดดื่ม ยกเว้นในระยะตับอักเสบเฉียบพลัน (Alcoholic Hepatitis) แพทย์อาจพิจารณาให้ยากลุ่มสเตียรอยด์ เพื่อลดการอักเสบ ในผู้ที่มีตับอักเสบรุนแรง เช่น Maddrey’s Discriminant Function (mDF) > 32 หรือ Model for End-Stage Liver Disease (MELD) score > 20 และไม่มีข้อห้ามในการให้ยาสเตียรอยด์ เช่น ติดเชื้อรุนแรง ไตวายเฉียบพลัน เลือดออกทางเดินอาหาร อวัยวะอื่นล้มเหลว และภาวะช็อก เป็นต้นยาอื่นๆที่อาจจะได้ผลแต่อยู่ระหว่างการศึกษาได้แก่ N-acetylcysteine (NAC) ร่วมกับยาสเตียรอยด์, Granulocyte-Colony Stimulating Factor (G-CSF), fecal transplantation ฯลฯ
4. การผ่าตัดเปลี่ยนตับหรือการปลูกถ่ายตับ (Liver Transplantation) โดยทั่วไปจะพิจารณา ในรายที่เป็นตับแข็งระยะท้ายและหยุดดื่มอย่างน้อย 6 เดือน หรือในกรณีที่เป็นตับวายเฉียบพลันรุนแรงการปลูกถ่ายตับ อาจจะได้ทั้งจากการบริจาคอวัยวะจากผู้เพิ่งเสียชีวิต หรือได้จากผู้ให้บริจาคที่ยังมีชีวิต ซึ่งแบบหลังในประเทศไทยยังทำได้ไม่มากนัก หลังจากปลูกถ่ายตับแล้วผู้ป่วยไม่ควรกลับมาดื่มแอลกอฮอล์ใหม่ เพราะทำให้โรคตับจะกลับมาเป็นซ้ำ นอกจากนี้กว่าจะได้รับบริจาคตับต้องใช้เวลารอคอยนาน และยังมีผู้ป่วยโรคตับอื่นๆ หลายคนต่างก็รอคอยตับ เพื่อปลูกถ่ายตับอีกจำนวนมาก
ในการนี้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 และแพทย์ทหาร จึงมีความห่วงใยต่อข้าราชการทหาร ในสังกัดกองทัพภาคที่ 3 และพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ต่อโรคภัยดังกล่าว ซึ่งหากพบว่าตนเองหรือคนรอบข้างมีอาการบ่งชี้ หรือสงสัยว่าป่วย ดังอากการตามขั้นต้น ขอให้ได้ไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือ หรือโรงพยาบาล ของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อคัดกรอง วินิจฉัย และเข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็ว

********************************
คณะบรรณาธิการข่าว กองทัพภาคที่ 3
20 มกราคม 2565

389 เยี่ยมชมหน้านี้ทั้งหมด 2 เยี่ยมชมวันนี้

By Aui

error: สวัสดีค่ะ