ตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และรัฐบาล ได้ริเริ่มจัดตั้ง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เมื่อ 25 ตุลาคม 2560 โดยมีหน้าที่ในการบูรณาการและบริหารทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบในทุกมิติ อีกทั้งมีหน้าที่ในการจัดสรร การใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และสิทธิในน้ำ เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถบริหารทรัพยากรน้ำ ให้มีความประสานสอดคล้องกันในทุกมิติอย่างสมดุล และยั่งยืน รวมทั้งการวางหลักเกณฑ์ในการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำสาธารณะ ตลอดจนจัดให้มีองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งในระดับชาติ ระดับลุ่มน้ำ และระดับองค์กรผู้ใช้น้ำ ซึ่งสะท้อนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อร่วมกันบริหารทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล นั้น
ในการนี้ มณฑลทหารบกที่ 38 ได้เข้ามามีส่วนร่วม ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของจังหวัดน่าน โดยมณฑลทหารบกที่ 38 เข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานงานกับภาคีเครือข่าย ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของจังหวัดน่าน ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน 64 เป็นต้นมา ได้ร่วมขับเคลื่อนการจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และตามกฎกระทรวงองค์กรผู้ใช้น้ำ พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นกฎหมายน้ำฉบับแรกของไทย และถือเป็นกฎหมายใหม่ จำเป็นต้องให้ประชาชนในพื้นที่เข้าถึงกฎหมายนี้ และมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำด้วยในช่วงสัปดาห์แรก โดยได้จัดกำลังพลของหน่วยศึกษาหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ ทั้งระเบียบ กฎหมาย วิธีการ ขั้นตอนต่างๆ รวมถึงประสานการปฏิบัติกับ สทนช.ภาค 1 ผู้ซึ่งรับผิดชอบหลัก โดยในห้วงเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการจัดประชุมหารือกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อระดมความคิดเห็นข้อเสนอแนะต่างๆ หาแนวทางปฏิบัติร่วมกัน จากนั้นสร้างการรับรู้ พร้อมกับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เชิญชวน ให้มีการจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำให้กับกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ สื่อมวลชนจังหวัดน่าน, ภาคอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม, หน่วยจัดการต้นน้ำ, สัสดีอำเภอทั้ง 15 อำเภอ, น้องๆ นักศึกษาวิชาทหาร, สภาองค์กรชุมชนตำบล รวมถึงการลงพื้นที่ โดยมีวิทยาลัยชุมชน, ชมรมคนรักษ์ดิน น้ำ ป่าน่าน, หัวหน้าอุทยานแห่งชาติขุนสถาน และโครงการชลประทานน่าน ช่วยเป็นกำลังเสริม โดยภายในเดือนมิถุนายน กำหนดให้เป็นห้วงของการขึ้นทะเบียนองค์กรผู้ใช้น้ำ ซึ่งในขั้นตอนนี้ มณฑลทหารบกที่ 38 ได้จัดตั้งศูนย์บริการรับขึ้นทะเบียนฯ ในระบบออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกและให้คำแนะนำแก่กลุ่มผู้ใช้น้ำที่จะขึ้นทะเบียนฯ นอกจากนี้ หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 31 ได้จัดทำข้อมูลให้กับกลุ่มผู้ใช้น้ำในแต่ละพื้นที่ด้วย ในช่วงเริ่มต้นการขับเคลื่อน ได้เชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมกันจัดตั้งกลุ่มไลน์ ชื่อ “กลุ่มขับเคลื่อนอนุรักษ์น้ำน่าน” มีวัตถุประสงค์ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ ให้ครอบคลุมทุกลุ่มน้ำและลำน้ำสาขาในพื้นที่จังหวัดน่าน เน้นให้ประชาชนผู้ใช้น้ำมีส่วนร่วมในการรวมกลุ่มจัดตั้งฯ ให้ได้มากที่สุด ซึ่งทางมณฑลทหารบกที่ 38 จัดกำลังพลทำหน้าที่เป็นแอดมินของกลุ่มไลน์ฯ เพื่อประสานงานและแจ้งความเคลื่อนไหวต่างๆ ให้สมาชิกในกลุ่มรับทราบ ปัจจุบันมีสมาชิกในกลุ่ม จำนวน 325 คน
ก่อนการขับเคลื่อนการจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ มีองค์กรที่ขึ้นทะเบียน 1 องค์กร คือ องค์กรผู้ใช้น้ำวรนคร หลังการขับเคลื่อนร่วมกันกับภาคีเครือข่าย เป็นระยะเวลา 1 เดือนเศษ ปัจจุบันมียอดการขึ้นทะเบียนทั้งหมด 455 องค์กร แยกเป็นลุ่มน้ำน่าน 437 องค์กร ได้รับอนุมัติแล้ว 276 องค์กร และลุ่มน้ำยม 18 องค์กร ได้รับอนุมัติแล้ว 1 องค์กร จากจำนวนการขึ้นทะเบียนทั้งหมด 455 องค์กร แยกเป็นภาคเกษตรกรรม 426 องค์กร ภาคอุตสาหกรรม 21 องค์กร และภาคพาณิชยกรรม 7 องค์กร ณ ตอนนี้ ยอดการขึ้นทะเบียนจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำของจังหวัดน่านมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ เป็นผลลัพธ์ที่เกินเป้าหมาย และเป็นความภาคภูมิใจของทีมงานที่ทุกภาคส่วนต่างร่วมมือ ร่วมใจ ช่วยกันขับเคลื่อนในครั้งนี้
สำหรับการดำเนินการหลังการจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำแล้ว โดยในห้วงเดือนกรกฎาคม 2564 จะเป็นขั้นตอนในการรับสมัครตัวแทนองค์กรผู้ใช้น้ำเพื่อเข้าคัดเลือกเป็นคณะกรรมการลุ่มน้ำ ทั้ง 3 ภาค คือ ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคพาณิชยกรรม ซึ่งจังหวัดน่านจะได้ดำเนินการแจ้งประชาสัมพันธ์ให้กับองค์กรผู้ใช้น้ำ เพื่อเสนอตัวแทนเข้ารับการคัดเลือก และซักซ้อมความเข้าใจในระดับจังหวัด ก่อนที่จะเสนอผู้แทนเข้าไปคัดเลือกเป็นคณะกรรมการลุ่มน้ำต่อไป รวมถึงหารือเพื่อดำเนินกรรมวิธีให้ได้มาซึ่งตัวแทนของจังหวัดทั้ง 3 ภาคดังกล่าว เพื่อให้ทันต่อการเสนอชื่อภายในเดือนกรกฎาคมนี้ นอกจากนี้หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 31 ได้อาสาเข้ามาจัดทำกระบวนการที่ตอเนื่อง และเปนระบบกระบวนการหนึ่ง สําหรับการวิเคราะหภัยคุกคาม และสภาพแวดลอมในพื้นที่ทางภูมิศาสตรในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งโดยเฉพาะ (Intelligence Preparation of Battlefield : IPB) ด้านการใช้น้ำให้แต่ละอำเภอ โดยนำองค์กรผู้ใช้น้ำที่มีในแต่ละอำเภอ มาเป็นฐานข้อมูลในการจัดทำ
โดยมีแผนดำเนินการเพื่อให้องค์กรผู้ใช้น้ำมีส่วนร่วมในการใช้การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษาการฟื้นฟู และการอนุรักษ์น้ำ ส่งเสริมให้แต่ละพื้นที่นำศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาชาวบ้านมาพัฒนาปรับใช้ โดยเฉพาะการเก็บกักน้ำไว้เป็นน้ำต้นทุนในฤดูแล้ง เช่น การสร้างฝายผสมผสานหรือฝายแม้วในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำ การสร้างฝายกึ่งถาวรในพื้นที่กลางน้ำ การทำคลองไส้ไก่ การทำแก้มลิง การสร้างฝายพับได้กลางลำน้ำน่าน และการเก็บกักน้ำไว้ใต้ดิน เช่น การสร้างธนาคารน้ำใต้ดิน การเจาะสะดือดิน รวมถึงการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวทางพระราชดำริ ผสมกับภูมิปัญญาชาวบ้าน อย่างการทำ โคก-หนอง-นา เป็นต้น ซึ่งแนวคิดนี้ เป็นการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในจังหวัดน่าน ให้มีน้ำไว้ใช้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี หากจังหวัดน่านมีน้ำเพียงพอแล้วจะทำให้สามารถส่งน้ำไปช่วยเติมเขื่อนสิริกิติ์ในช่วงฤดูแล้ง เพื่อช่วยผลักดันน้ำเค็มต่อไป
ทั้งนี้ กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ที่ใช้ประโยชน์จากลุ่มน้ำต่างๆ ได้ดำเนินการตามคำแนะนำของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) หรือสามารถประสานมายัง หน่วยทหาร, กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด ซึ่งมีที่ตั้งในศาลากลางจังหวัดทุกแห่งใกล้บ้านท่าน หรือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 หมายเลขโทรศัพท์ 055-247915 หรือ 055-245070-9 ต่อ 73214 เพื่อร่วมด้วยช่วยกันบูรณาการประสานชุมชน ในการจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนทุกคนสืบไป
********************************
คณะบรรณาธิการข่าว กองทัพภาคที่ 3
27 มกราคม 2565