ปัจจุบันคนหันมาใส่ใจเรื่องการกินอาหารมากขึ้น ทั้งการกินอาหารคลีน, การทำ IF (Intermittent Fasting), การกินคีโต (Ketogenic Diet) หรืออื่นๆ จนบางคนอาจใส่ใจมากเกินไป จนกลายเป็นความกังวลต่อการกินอาหาร กังวลต่อรูปร่าง และน้ำหนักตัวจนทำให้เกิดพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ ดังนั้นมาสังเกตกันว่า พฤติกรรมการกินของตนเองในตอนนี้ ว่าเข้าข่ายเป็นพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติหรือไม่
Eating Disorder คือ พฤติกรรมการกินอาหารที่ผิดปกติ มีความสัมพันธ์กับสภาวะจิตใจ ผู้ป่วยจะมีความกังวลกับอาหารที่กิน กังวลต่อน้ำหนักตัว กังวลต่อรูปร่างหรืออื่นๆ ส่งผลให้คนไข้มีน้ำหนักตัวที่มากหรือน้อยกว่าปกติ นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เกิดโรคอื่นๆตามมาหลายโรค เช่น โรคขาดสารอาหาร โรคที่เกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร โรคที่เกี่ยวข้องกับออร์โมน โรคกระดูกพรุน โรคหัวใจและหลอดเลือด ฯลฯ ซึ่งหากมีความรุนแรงมากและไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เสียชีวิตได้
พฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ แบ่งออกเป็นหลายชนิด ชนิดที่สำคัญและพบได้บ่อย มีดังนี้
1. Anorexia Nervosa (โรคคลั่งผอม) ผู้ป่วยจะจำกัดการกินอาหาร จำกัดพลังงาน เลือกชนิดอาหารอย่างเข้มงวด ปฏิเสธว่าไม่หิว ทั้งๆ ที่หิวอยู่ มีความกังวลว่าน้ำหนักจะขึ้นทั้งๆ ที่ตนเองอาจอยู่ในเกณฑ์น้ำหนักตัวต่ำกว่าปกติ
2. Bulimia Nervosa (โรคล้วงคอ) ผู้ป่วยมีอาการ “อยากกินแต่ไม่อยากอ้วน” กินอาหารในปริมาณที่มากกว่าปกติ ไม่สามารถควบคุมได้ จากนั้นใช้วิธีต่างๆ เพื่อจัดการกับอาหารกินที่มากไป เช่น ล้วงคอเพื่อให้อาเจียนออกมา การกินยาระบาย หรือการไปออกกำลังกายอย่างหนัก
3. Binge Eating Disorder (โรคกินไม่หยุด) ผู้ป่วยกินอาหารในปริมาณมากอย่างรวดเร็ว ควบคุมไม่ได้ หรือกินจนรู้สึกแน่น จึงหยุด จากนั้นมีความรู้สึกผิดที่กินเข้าไปเยอะ เครียด บางรายกินแล้วอาจล้วงคอให้อาเจียนออกมา สัมพันธ์กับโรคล้วงคอ
4. Avoidant Restrictive Food Intake Disorder (โรคเลือกกินอาหาร) อาการคล้ายโรคคลั่งผอม ผู้ป่วยเลือกกินอาหารบางชนิดและจำกัดอาหาร แต่ไม่ได้กังวลเรื่องรูปร่างหรือน้ำหนักตัว ถ้าเกิดขึ้นในเด็กจะทำให้การเจริญเติบโตและพัฒนาการผิดปกติ ในผู้ใหญ่ทำให้น้ำหนักลด หรือเกิดภาวะขาดสารอาหาร
5. Orthorexia (โรคคลั่งกินคลีน) ผู้ป่วยจะมีความกังวลเกี่ยวกับอาหาร จะคำนึงถึงและเลือกกินเฉพาะอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ มีการอ่านฉลากโภชนาการ เช็คส่วนประกอบของอาหารทุกครั้งก่อนเลือกกิน ใช้เวลานานในการนึกถึงอาหารที่ต้องมีประโยชน์ในมื้อถัดไป ผู้ป่วยจะรู้สึกเครียดถ้ามื้อใดไม่ได้กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ บางรายงดการกินอาหารบางอย่างไปเลย เพราะคิดว่าเป็นอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น น้ำตาล คาร์โบไฮเดรต ไขมัน เนื้อสัตว์
ในการนี้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพ
ภาคที่ 3 และแพทย์ทหาร จึงมีความห่วงใยต่อข้าราชการทหาร ในสังกัดกองทัพภาคที่ 3 และพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ต่อพฤติกรรมการกินผิดปกติเหล่านี้ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย โดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย หากพบว่าตนเองมีอาการเข้าข่ายพฤติกรรมการกินผิดปกติเหล่านี้ ขอให้ได้ไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือ หรือโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อรับการวินิจฉัยที่เหมาะสม หากวินิจฉัยแล้วมีความผิดปกติจริง จะช่วยให้ท่านได้รับการรักษาที่รวดเร็ว ป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ที่จะตามมาได้โดยเร็ว
********************************
คณะบรรณาธิการข่าว กองทัพภาคที่ 3
9 กุมภาพันธ์ 2565