ช่วยเเชร์ จ้า .....

แพทย์ทหารเตือนภัย “ภาวะเสี่ยง เมื่อคลำพบก้อนที่ลำคอ”

ก้อนที่เกิดขึ้นบริเวณลำคอ นั้น อาจเป็นได้ทั้งก้อนขนาดเล็ก ต้องคลำจึงจะพบ หรือขนาดใหญ่ที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนด้วยตา และมักสร้างความกังวลใจไม่น้อย ว่าก้อนเหล่านี้อันตรายหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่ก้อนที่คอมักไม่ค่อยอันตราย โดยจะเป็นลักษณะต่างๆ ที่บ่งบอกได้ ดังนี้
ก้อนที่คออาจเกิดจากสาเหตุ ดังนี้
1. ก้อนบริเวณผิวหนัง เช่น ก้อนซีสต์ไขมันผิวหนัง (Sebaceous Cyst ), ก้อนไขมันใต้ผิวหนัง (Lipoma)
2. ก้อนต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งเกิดจากการ
2.1 ติดเชื้อที่หู การติดเชื้อที่โพรงจมูก คอ, ทอนซิลอักเสบ, การติดเชื้อที่เหงือกและฟัน โดยมักมีอาการที่อวัยวะนั้นๆ ด้วย เช่น ปวดหู ปวดฟัน ฟันผุ มีเหงือกอักเสบ เจ็บคอ ไอมีเสมหะ อาจมีไข้ร่วมด้วย
2.2 ติดเชื้อวัณโรคต่อมที่น้ำเหลือง (Tuberculosis Lymph Node)
2.3 ติดเชื้อไวรัสบางชนิดที่ทำให้ต่อมน้ำเหลืองโต
2.4 มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma)
2.5 มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia)
2.6 มะเร็งที่อวัยวะอื่นๆ ที่แพร่กระจายมาที่ต่อมน้ำเหลือง เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งบริเวณลำคอ
3. ก้อนบริเวณต่อมไทรอยด์ ซึ่งเกิดจาก
3.1 ต่อมไทรอยด์อักเสบ (Thyroiditis) มักมีก้อนที่ไทรอยด์ กดเจ็บบริเวณก้อน
3.2 ก้อนเนื้อหรือถุงน้ำที่ต่อมไทรอยด์ ( Thyroid Nodule , Thyroid Cyst )
3.3 มะเร็งต่อมไทรอยด์ (Thyroid Cancer )
4. ก้อนถุงน้ำที่คอ (Branchial Cleft Cyst) เกิดขึ้นเพราะเนื้อเยื่อตอนเป็นตัวอ่อนพัฒนาไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างเนื้อเยื่อ และมีสารน้ำมาสะสมเป็นถุงน้ำ
การวินิจฉัยก้อนที่คอ
ผลการวินิจฉัยจะขึ้นอยู่กับอาการ อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยที่ทำให้สงสัยความผิดปกติ ของอวัยวะนั้น ผลจากการตรวจร่างกาย โดยแพทย์ว่าเป็นก้อนแบบใด อาจมีการส่งตัวไปพบผู้เชี่ยวชาญ แพทย์เฉพาะทางหู คอ จมูก แพทย์เฉพาะทางต่อมไทรอยด์ หรือแพทย์เฉพาะทางอายุรกรรม เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยให้ชัดเจนมากขึ้น อาจจำเป็นต้องตรวจ อัลตร้าซาวด์บริเวณคอ เพื่อดูว่าก้อนอยู่บริเวณอวัยวะใด วัดขนาดก้อน และดูลักษณะก้อนว่าเป็นก้อนถุงน้ำหรือก้อนเนื้อ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์บริเวณคอ บางครั้งต้องมีการตรวจเลือด และการตรวจชิ้นเนื้อร่วมด้วย (Tissue Biopsy or Fine Needle Aspiration ) เพื่อแพทย์จะสามารถให้การวินิจฉัยที่แน่ชัด
วิธีการรักษาก้อนที่คอ
การรักษาก้อนที่คอ ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดก้อน โดยก้อนที่เกิดจากแบคทีเรียจะรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ส่วนก้อนที่เกิดจากมะเร็งจะมีการรักษาทั้งการผ่าตัด การฉายรังสี และการทำเคมีบำบัด
ในการนี้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 และแพทย์ทหาร จึงมีความห่วงใยต่อข้าราชการทหาร ในสังกัดกองทัพภาคที่ 3 และพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ต่อภาวะดังกล่าว ซึ่งหากพบว่าตนเองหรือคนรอบข้าง ตรวจพบว่ามีก้อนผิดปกติขึ้นที่บริเวณลำคอ ขอให้ได้รีบไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือ หรือโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อคัดกรอง วินิจฉัย และเข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็ว ทั้งนี้ ไม่ควรกังวลจนเกินไป เพราะก้อนเนื้อมีเพียงบางส่วนเท่านั้นก็จะเป็นเนื้องอก เนื้อมะเร็ง ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการอักเสบ ติดเชื้อที่สามารถรักษาหายได้

********************************
คณะบรรณาธิการข่าว กองทัพภาคที่ 3
2 มีนาคม 2565

509 เยี่ยมชมหน้านี้ทั้งหมด 2 เยี่ยมชมวันนี้

By Aui

error: สวัสดีค่ะ