เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก นายชูชาติ กีฬาแปง ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ได้ประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล(Video Conference) โดยมีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกรอบแนวทางการดำเนินงานตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้ง ปี 2558/59 เพื่อให้จังหวัดสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและลดขั้นตอนการปฏิบัติจึงให้คณะกรรมการของศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้งระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการศูนย์ มีหน้าที่กลั่นกรองโครงการระดับจังหวัดร่วมกับคณะทำงานขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้งระดับจังหวัดตามหลักเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนด
สำหรับจังหวัดพิษณุโลก ได้เกิดสถานการณ์ภัยแล้งขึ้นในพื้นที่ทุกอำเภอของจังหวัด ส่งผลให้ราษฏรได้รับความเดือดร้อน ในเรื่องนำอุปโภค บริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร จึงได้ประกาศเป็นเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 9 อำเภอ 77 ตำบล 807 หมู่บ้าน ราษฏรได้รับความเดือดร้อน 125726 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 131497 ไร่ ซึ่งทางจังหวัดได้จัดตั้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพิษณุโลก พร้อมประสานบูรณาการในทุกภาคส่วนให้เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สำรวจความต้องการ ในพื้นที่ที่จะบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยพิบัติ รวมถึงความต้องการในการบูรณฟื้นฟูแหล่งกักเก็บน้ำสาธารณะ รวมถึงสภาพ คูคลอง ที่ใช้ในการกักเก็บน้ำเพื่อป้องกันและแก้ไปปัญหาภัยแล้ง
นายชูชาติ กีฬาแปง ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ได้กล่าวเพิ่มเติมว่านอกจากภัยแล้งแล้ว ที่ต้องเฝ้าระวังคือการเตรียมการภัยหนาว ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาว เมื่อวันที่ 22 ตุลาค ที่ผ่านมา จ.พิษณุโลก อาจได้รับผลกระทบโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นเทือกเขา เช่น อ.นครไทย อ.ชาติตระการ ซึ่งทางจังหวัดได้สำรวจความต้องการเครื่องกันหนาวให้กับราษฏรที่ขาดแคลน โดยมุ่งเน้น กลุ่มเป้าหมาย เป็น เด็ก สตรีมีครรภ์ คนชรา ผู้ทุพพลภาพ ทั้ง 9 อำเภอ พร้อมประสานบูรณาการทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สำหรับการให้ความช่วยเหลือซึ่งคาดว่าน่าจะเพียงพอกับความต้องการ