เช้าวันนี้ ( 21 ม.ค.59 ) ที่โรงแรมเดอะแกรนด์ริเวอร์ไซด์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก นายวิทูรัช ศรีนาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานในการเปิดการประชุมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมแก้มลิงพื้นที่ลุ่มต่ำเหนือจังหวัดนครสวรรค์ โดยมีประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในหมู่บ้านที่กำหนดให้เป็นพื้นที่แก้มลิง ผู้นำชุมชนหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่ทำหน้าที่พิจารณารายงานฯ หน่วยงานราชการในระดับต่างๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา นักวิชาการอิสระ สื่อมวลชน และประชาชนที่สนใจในพื้นที่ศึกษาของโครงการครอบคลุมใน 136 ตำบลของ 22 อำเภอ ของ 4 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ เข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อโครงการดังกล่าว
ด้านนายพรมงคล ชิดชอบ ผู้อำนวยการส่วนวางโครงการที่ 1 กรมชลประทานกล่าวว่าสืบเนื่องจากกรมชลประทานได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด และ บริษัท ทีดับเบิ้ลยูไอ คอนซัลแตนส์ จำกัด ให้ดำเนินงานศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมแก้มลิง พื้นลุ่มต่ำเหนือจังหวัดนครสวรรค์ โดยมีระยะเวลาการศึกษา 18 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 7 เมษายน 2560 โดยมีแนวคิดในการพัฒนาโครงการคือจะพัฒนาพื้นที่ลุ่มต่ำที่อยู่เหนือจังหวัดนครสวรรค์ ให้เป็นพื้นที่เก็บกักน้ำหลากชั่วคราว ในช่วงที่เกิดอุทกภัยโดยควบคุมน้ำเข้าพื้นที่อย่างเป็นระบบ และบริหารจัดการน้ำที่เก็บกักไว้เพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูกของเกษตรกร โดยมีการศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การศึกษาด้านเศรษฐกิจ สังคมและเศรษฐศาสตร์ของโครงการ รวมทั้งศึกษากฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยพื้นที่ศึกษาของโครงการครอบคลุม 136 ตำบลของ 22 อำเภอ ใน 4 จังหวัด คือจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ ในกระบวนการศึกษาข้างต้นกรมชลประทานได้ให้ความสำคัญต่อการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มวางแผนพัฒนาโครงการ และเปิดโอกาสให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็นต่อการกำหนดพื้นที่แก้มลิง การบริหารจัดการพื้นที่แก้มลิง รวมทั้งแนวทางการชดเชยความสูญเสียอันเนื่องมาจากการบริหารจัดการพื้นที่แก้มลิง โดยมีแผนจัดกิจกรรมเผยแพร่ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไม่น้อยกว่า 8 ครั้ง ตลอดระยะเวลาศึกษาโครงการ ทั้งนี้เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความร่วมมือ และการยอมรับของประชาชนเป็นพื้นที่ศึกษาของโครงการ ทั้งนี้เพื่อนำเสนอเหตุผลและความจำเป็นของโครงการ ลักษณะโครงการ ขอบเขตและขั้นตอนการศึกษา หลักการกำหนดพื้นที่แก้มลิง การศึกษาด้านวิศวกรรม การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและกระบวนการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน จากนั้นกรมชลประทานและบริษัทที่ปรึกษาจะรวบรวมคิดเห็นตลอดจนข้อเสนอ และประเด็นต่างๆไปพิจารณาประกอบการศึกษาโครงการต่อไป