ช่วยเเชร์ จ้า .....

 

               ท่ามกลางวิกฤติการสถานการณ์ภัยแล้งในปัจจุบันกรมชลประทาน  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดว่ามีปริมาณน้ำใช้การได้ 20,733 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ความต้องการน้ำในภาพรวมมีความต้องการสูงถึง 70,249 ล้านลูกบาศก์เมตร  แบ่งเป็นความต้องการ 75% จากตัวเลขดังกล่าวถือว่าปริมาณน้ำที่จำเป็นต้องใช้ยังขาดแคลนอยู่มหาศาล ส่งผลให้พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องเร่งรัดมาตรการในการรับมืออย่างเร่งด่วน เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรและประชาชนในวงกว้าง

             คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤติภัยแล้ง ปี 2558/59 ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อำนวยการ เฉพาะกิจแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้งปี 2558/59 ระดับชาติ จำนวน 8 มาตรการ ประกอบด้วย   1. มาตรการส่งเสริมความรู้และการสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน 2. มาตรการชะลอหรือขยายระยะเวลาชำระหนี้ที่เกษตรมีภาระหนี้กับสถาบันการเงิน 3. มาตรการจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร 4. มาตรการเสนอโครงงานพัฒนาอาชีพตามความต้องการของหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง 5. มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ 6. มาตรการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน 7. มาตรการเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและ 8.มาตรการสนับสนุนอื่น ๆ  เช่น การให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง

             นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากปัญหาน้ำในเขื่อนหลัก 4 แห่ง มีปริมาณน้ำต่ำสุดในรอบ 20 ปี คาดว่าจะเกิดความเสียหายเบื้องต้นใน  ภาคเกษตร 6.5 ล้านบาท อีกหนึ่งแนวทางออกนอกจาก 8 มาตรการดังกล่าว คือมาตรการสร้างแรงจูงใจลดการใช้น้ำในครัวเรือน-ภาคธุรกิจให้มากขึ้น โดยมอบหมายให้กรมชลประทานควบคุมปริมาณน้ำให้สูงกว่าเกณฑ์ซึ่งเขื่อนภูมิภพและเขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ประมาณ 3 ปี  นับตั้งแต่ปี 2557-59 กรมชลประทานจะพยายามไม่ใช้น้ำจากอ่างในช่วงฝนตกเพื่อให้น้ำในอ่างสูงกว่าเกณฑ์ให้ได้ และคาดว่าเดือนเมษายน ทิศทางสถานการณ์น้ำจะดีขึ้น โดยมีเป้าหมายในปลายปีจะเติมน้ำในอ่างให้เต็ม  ขณะที่ในช่วงภัยแล้งที่เหลืออีก 100 วัน ถ้าไม่ใช้น้ำในการเพาะปลูกมากเกินไป เขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จะไม่ขาดแคลนน้ำอย่างแน่นอน และได้ขอความร่วมมือเกษตรชะลอการปลูกข้าวนาปรัง หันมาปลูกพืชน้ำน้อยและทนแล้งแทน ประชาสัมพันธ์ให้เลื่อนการเพาะปลูกข้าวนาปีออกไปก่อน

              ซึ่งผลสัมฤทธิ์จากการแก้ปัญหาไขปัญหาภัยแล้ง สามารถลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังจาก 8 ล้านไร่ในปี 57/58 เหลือ 4 ล้านไร่ ในปี 58/59 ลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนสร้างโอกาสทางด้านอาชีพที่เกิดจากความต้องการของชุมชนรวมถึงการมีแหล่งน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นอีกด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีแนวทางการบริหารงานโดยให้เกษตรกรเป็นศูนย์กลาง การให้ความสำคัญในเรื่องพืช ประมง และปศุสัตว์ อีกทั้งยังมีการพัฒนาให้มีความเข้มแข็ง มีการบูรณาการทำงาน รวมถึงสามารถประสานงานในเชิงนโยบายได้

               ทั้งหมดนี้คือแนวทางที่รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือ ร่วมแรงกันภายใต้ยุทธศาสตร์ “ประชารัฐ”มุ่งหวังฝ่าวิกฤติการณ์ภัยแล้งที่ส่อเค้ารุนแรงขึ้นครั้งนี้ไปให้ได้ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรและประชาชน นอกจากภาครัฐจะแข็งขันในการแก้ปัญหาภัยแล้งแล้ว เกษตรกรและประชาชนก็เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการให้ความร่วมมือในการประหยัดน้ำและแนวทางของภาครัฐที่ขอความช่วยเหลือเพื่อเป็นประโยชน์แก่เกษตรกร

4194 เยี่ยมชมหน้านี้ทั้งหมด 2 เยี่ยมชมวันนี้

By Aui

error: สวัสดีค่ะ