จากกรณีที่มีโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์และสถาปัตยกรรมทางหลวงหมายเลข 117 พิษณุโลก-นครสวรรค์ ระยะทางกว่า 6 กิโลเมตร ซึ่งแขวงการทางพิษณุโลกที่ 1 ได้ทำสัญญาจ้างเอกชนให้ดำเนินงานนี้ตามแบบที่ออกโดยสำนักภูมิสถาปัตย์งานทางกรมทางหลวง ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา สิ้นสุดสัญญาวันที่ 19 มิถุนายน 2559 รวม 150 วัน ด้วยงบประมาณค่าจ้าง 24,960,529 บาท โดยจะทำการตัดต้นไม้บริเวณเกาะกลางถนนเป็นระยะทางกว่า 6 กิโลเมตร ซึ่งคณาจารย์และนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว เพราะต้นเสลาถือเป็นต้นไม้สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยนเรศวร
ด้านผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร.ประภาษ เพ็งพุ่ม หัวหน้าภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยของเราพึ่งรู้ว่าจะเป็นการปรับภูมิทัศน์หน้ามหาวิทยาลัย ซึ่งจะมีการตัดต้นไม้เราจึงได้ระดมรายชื่อของนิสิตที่มาได้กว่า 1000 รายชื่อ นิสิตและชาวมน.รู้สึกแน่นอกกับการกระทำของหน่วยงานของรัฐบาลในครั้งนี้ จึงร่วมรณรงค์ร่วมกับอาจารย์ นิสิต รวมถึงประชาชนชาวพิษณุโลกที่ไม่เห็นด้วย เป็นพลังบริสุทธ์เพื่อทำกิจกรรมที่เป็นเชิงสัญลักษณ์ ให้บุคคลภายนอกให้รู้ว่าจะมีการตัดต้นไม้ที่เป็นหน้าตาของมน.และเมืองพิษณุโลก จึงนำผ้าขาวมาผูกกับต้นไม้ไว้ เพื่อให้รู้ว่าพวกเรารักและหวงแหนต้นเสลาที่เป็นเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย ความจริงแล้วการกระทำของหน่วยงานราชการก็ควรจะได้มาพูดคุยกับชุมชนว่าเห็นด้วยหรือไม่เพราะต้นไม้พวกนี้ บางต้นใช้เวลาปลูกกว่า 20-30 ปี อีกทั้งยังเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยอีกด้วย ทางด้านมหาวิทยาลัยนเรศวร ยังไม่ได้เจรจาใดๆ กับทางจังหวัดพิษณุโลก
สื่อท้องถิ่นบางรายก็ร่วมรณรงค์ให้ประชาชนมาร่วมกันคัดค้านโครงการฯ ประชาชนหลายๆ ท่านถึงกับโพสต์ข้อความบนโซเซียลต่อว่าอย่างรุ่นแรงกับโครงการนี้ ยิ่งทราบว่าถ้าตัดต้นเสลาไปแล้วจะมีการนำไม้พุ่มอย่างต้นเฟื่องฟ้า,ชาฮกเกี้ยนมาปลูกแทนที่ ส่วนต้นดอกเสนเสลาขณะนี้อยู่ในระหว่างออกดอกสะพร่างสวยงาม สร้างความประทับใจให้กับผู้ที่สัญจรผ่านไปมาบนถนนเส้นหน้ามหาวิทยาลัยนเรศวรและใกล้เคียงก่อนเข้าสู่ตัวเมืองพิษณุโลก
หลังจากกระแสต่อต้านกระพือขึ้นนิสิตและอาจารย์มน.และประชาชนชาวจังหวัดพิษณุโลกก็ได้รับข่าวดี ถึงการทบทวนและชี้แจงว่าจะไม่ทำการตัดเสลาต้นราชพฤกษ์บริเวณนั้นแล้ว พร้อมออกหนังสือชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบ ยังความปิติยินดีให้กับชาวมหาวิทยาลัยนเรศวร ชาวเมืองสองแควเป็นอย่างยิ่ง ความจริงในปัจจุบันทุกฝ่ายก็รณรงค์ให้มีการปลูกต้นไม้อยู่แล้ว ฉะนั้นก็ควรจะดูแลรักษาให้มันมีอายุยืน ไม่ใช่ไปทำลายอย่างไม่มีเหตุผล
พรหมพร คงเนตร สำนักข่าวที่นี่เมืองสองแคว รายงาน