นายธีระศักด์ ขุมเงิน เกษตรจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่าจากสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำ ได้เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของแมลงศัตรูพืชหลายชนิด จากการสำรวจพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังของเกษตรกรพบว่า มีการระบาดของไรแดงในพื้นที่อำเภอวัดโบสถ์แล้วประมาณ 4,243 ไร่ และในพื้นที่อำเภอพรหมพิรามอีก 350 ไร่ โดยทางเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรได้ทำการแจ้งเตือนและให้คำแนะนำวิธีการป้องกันและกำจัดที่ถูกต้องแก่เกษตรกรแล้ว ทั้งนี้นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จังหวัดพิษณุโลกมีสภาพอากาศที่แห้งแล้งต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งเป็นสภาพที่เหมาะสมต่อการระบาดและเพิ่มปริมาณของศัตรูพืชหลายชนิด รวมไปถึงไรแดงและเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง ที่สามารถสร้างความเสียหายแก่แปลงปลูกมันสำปะหลังของเกษตรกร โดยเฉพาะมันสำปะหลังในช่วงอายุ 1-4 เดือน จะระบาดได้อย่างรวดเร็ว แต่ ณ ขณะนี้ยังไม่ได้สร้างความเสียหายถึงระดับเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่สภาพอากาศแห้งแล้งเช่นนี้ ขอให้พี่น้องเกษตรกรหมั่นสำรวจแปลงปลูกมันสำปะหลังอย่างสม่ำเสมอ หากพบการระบาดของศัตรูพืชต่างๆ ขอให้แจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอทราบ เพื่อเตรียมการป้องกันการระบาด และให้คำแนะนำวิธีการป้องกันกำจัดที่ถูกต้องต่อไป
นายธีระศักดิ์ ขุมเงิน เกษตรจังหวัดพิษณุโลก ได้ให้แนวทางการป้องกันและกำจัดไรแดงมันสำปะหลัง ดังนี้
การป้องกันกำจัด
Ÿ ควรอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ เช่น ด้วงเต่าและด้วงปีกสั้น เนื่องจากในแปลงมันสำปะหลังจะมีศัตรูธรรมชาติที่คอยทำลายแมลงศัตรูพืชอยู่มากแต่ระยะที่ผ่านมาเริ่มมีการใช้สารเคมีในแปลงปลูกมันสำปะหลังมากขึ้นทำให้ศัตรูธรรมชาติถูกทำลาย จึงมีการระบาดของศัตรูพืช เช่น เพลี้ยแป้งไรแดง และแมลงหวี่ขาวรุนแรงมากขึ้น
Ÿ หมั่นตรวจแปลงหากพบระบาดรุนแรงในระยะเป็นต้นอ่อน ให้พ่นสารป้องกันกำจัดแมลง ไรแดงเป็นศัตรูที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของมันสำปะหลัง โดยไรแดงจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบทำให้สูญเสียคลอโรฟิลล์ หากระบาดรุนแรงจะเคลื่อนย้ายไปดูดกินบนยอดอ่อน สร้างเส้นใยปกคลุมใบและลำต้น ทำให้ผิวใบด้านบนเป็นจุดด่างประสีเหลืองซีด ยอดไหม้ ใบเหี่ยวแห้งและร่วง หากเกษตรกรพ่นสารป้องกันกำจัดไรแดงได้ทันก็จะสามารถยับยั้งการระบาดได้
Ÿ หลีกเลี่ยงการปลูกมันสำปะหลัง ในช่วงที่ต้นอ่อนจะกระทบแล้งยาวนาน
สารเคมีที่แนะนำให้เกษตรกรใช้กรณีไรแดงระบาดรุนแรง ได้แก่
– อามีทราซ (amitraz) 20% อีซี อัตรา 40ซีซี/น้ำ 20 ลิตร
– ไดโคโฟล (dicofol) 18.5% อีซี อัตรา 50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร
– ไพริดาเบน (pyridaben) 20% ดับบลิวพี อัตรา 10 กรัม/น้ำ 20 ลิตร
– เฟนบูทาติน ออกไซด์ (fenbutatin oxide) 55% เอสซี อัตรา 10 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร
– สไปโรมีซิเฟน (spiromesifen) 24% เอสซี อัตรา 6 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร
– เตตราไดฟอน (tetradifon) 7.25% อีซี อัตรา 50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร
ในการใช้สารฆ่าไรแดง ไม่ควรพ่นชนิดเดียวกันติดต่อกันเกิน 3 ครั้ง ควรสลับชนิดสารเพื่อป้องกันการต้านทานสารของแมลง
ปฏิบัติตามคำแนะนำในฉลากอย่างเคร่งครัด และหยุดใช้ก่อนเก็บเกี่ยวอย่างน้อย 14 วัน
สำนักงานเกษตรจังหวัดพิษณุโลกขอให้เกษตรกรหมั่นสำรวจแปลงปลูกมันสำปะหลังอย่างสม่ำเสมอ หากพบการระบาดของศัตรูพืชต่างๆ ขอให้แจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอหรือสำนักงานเกษตรจังหวัดทราบ เพื่อเตรียมการป้องกันการระบาด และให้คำแนะนำวิธีการป้องกันกำจัดที่ถูกต้องต่อไป