นพ.ปิยะ ศิริลักษณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้าน (Rebies) เป็นโรคร้ายแรงที่พบได้ตลอดปี โรคนี้มีความเป็นพิเศษต่างจากโรคอื่นๆคือ หากติดเชื้อจนมีอาการป่วยจะไม่สามารถรักษาให้หายได้ ต้องเสียชีวิตทุกราย จากข้อมูลสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก ปี 2558 มีผู้ที่ถูกสุนัขหรือแมว กัด ข่วน ที่มาขอรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามากถึง 1,226 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงร้อยละ 56.56 เป็นกลุ่มอายุ 46 ปีขึ้นไปมากถึงร้อยละ 43 อีกกลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือเด็กอายุ 1-10 ปี ร้อยละ 28 ตำแหน่งที่ถูกกัดมากที่สุดคือ ขา ร้อยละ 52.74 สัตว์ที่กัดมากที่สุดคือสุนัข ร้อยละ 88.43 ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต ส่วนรายงานการพบสัตว์เป็นโรคพิษสุนัขบ้า พบเกือบทุกปีและไม่เฉพาะเกิดขึ้นในฤดูร้อนเท่านั้น จึงนับเป็นปัญหาที่ต้องเฝ้าระวัง
โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ เกิดจากเชื้อไวรัส ก่อโรคในสัตว์เลือดอุ่นเลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น สุนัข แมว วัว ควาย ลิง ชะนี เป็นต้น ในไทยพบว่าสุนัขป่วยเป็นโรคนี้มากที่สุดร้อยละ 96 รองลงมาคือ แมว เชื้อติดต่อสู่คนจากการถูกสัตว์ที่เป็นโรคกัด ข่วน เลีย น้ำลายกระเด็นเข้าทางตา ปาก หรือบาดแผลตามผิวหนัง โดยเชื้อไวรัสจะเพิ่มจำนวนที่บริเวณแผลถูกกัด หลังจากนั้นประมาณ 3 สัปดาห์ – 4 เดือน จะมีอาการป่วย บางรายอาจเร็วเพียง 4 วัน การป่วยจะช้า หรือเร็วขึ้นอยู่กับจำนวนเชื้อที่เข้าไป ตำแหน่งบาดแผล หากอยู่ใกล้สมอง เชื้อจะเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง หรือเข้าสู่สมองได้เร็ว ผู้ป่วยจะมีอาการคลุ้มคลั่ง ดุร้ายกระวนกระวาย หากเชื้อเข้าสู่ไขสันหลังจะทำให้สมอง และไขสันหลังทำงานผิดปกติ มีอาการอัมพาต ละเสียชีวิตในที่สุด
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้เร่งสร้างพื้นที่ในชนบทและเขตเมืองทั่วประเทศให้ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าตั้งเป้าครบ 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศกำหนด โดยร่วมมือกับกรมปศุสัตว์และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัข ตั้งแต่อายุ 3 เดือน ขึ้นไปคลอบคลุมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของสุนัขที่มีในหมู่บ้าน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก จึงขอให้ป้องกันโรคนี้ด้วยการให้วัคซีนในสัตว์เลี้ยงทุกปี ส่วนในคนหากถูกสุนัขหรือแมวกัด ข่วนให้รีบล้างแผลด้วยสบู่กับน้ำสะอาดให้มากที่สุด จากข้อมูลในปี 2558 พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 67.44 ไม่ล้างแผล ควรจะล้างให้มากที่สุดเพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดโรคและพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคทันที
หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก055 – 252052 ต่อ 452