เมื่อวันที่ 31 มี.ค.59 ภายในวัดราชบูรณะ อ.เมือง จ.พิษณุโลกพระครูสิทธิธรรมวิภัช เจ้าอาวาสวัดราชบูรณะ และนางจิรารัตน์ มีงาม ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานพิษณุโลก ตรวจสอบบ่อน้ำโบราณ อายุมากกว่า 208 ปี ที่ทางวัดต้องการล้างหรือลุบ่อน้ำโบราณให้สามารถนำน้ำออกใช้ในช่วงสงกรานต์อันใกล้นี้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวและประชาชนนำน้ำภายในบ่อน้ำโบราณมาเล่นสงกรานต์ ล่าสุดกองช่างจากเทศบาลนครพิษณุโลก ได้นำเครื่องจักรฉีดล้าง ทำความสะอาดรอบบ่อก่อน สูบน้ำออก ซึ่งบ่อดังกล่าวมีความลึกประมาณ 10 เมตร มีน้ำขังอยู่6 เมตร โดยมีตาน้ำอยู่ภายในบ่อ พระครูสิทธิธรรมวิภัช เจ้าอาวาสวัดราชบูรณะ กล่าวว่า เตรียมลุบ่อน้ำโบราณก็เพื่อส่งเสริมเรื่องการละเล่นสงกรานต์อย่างประหยัดและเป็นการสืบสานประเพณีโบราณในการละเล่นสาดน้ำที่ประชาชนเดินทางมาทำบุญที่วัดและมีการละเล่นสาดน้ำอย่างถูกวิธี บ่อน้ำดังกล่าวอยู่คู่กับวัดราชบูรณะโบราณมาช้านานการได้นำน้ำดังกล่าวมาใช้ถือเป็นสิริมงคล จึงได้ ปรึกษากับทาง ททท.สำนักงานพิษณุโลก และ เทศบาลนครพิษณุโลก ที่จะทำการลุบ่อดังกล่าว นางจิรารัตน์ มีงาม ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานพิษณุโลก กล่าวว่า การท่องเที่ยวฯ สนับสนุนการละเล่นสงกรานต์ตามประเพณีและให้เล่นน้ำอย่างประหยัด จึงส่งเสริมการใช้น้ำจากบ่อน้ำโบราณ ถือเป็นเป็นการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำที่มีอยู่เดิม อีกทั้งน้ำดังกล่าวถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ กรณีภัยแล้งปีนี้ อาจมีผลกระทบกับนักท่องเที่ยวบ้าง แต่แค่บางแห่งที่เล่นสาดน้ำ แต่อย่างไรจำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวคงไม่กระทบมากนักเพราะที่ผ่านมาทาง ททท.ส่งเสริมการท่องเที่ยวสงกรานต์อย่างถูกต้อง จึงไม่น่าจะเกิดปัญหา ส่วนชาวต่างชาติที่ยังนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกยังเป็น นักท่องเที่ยวจากประเทศแถบยุโรปและประเทศจีนบ้าง
สำหรับบ่อน้ำโบราณ สันนิษฐานว่ามีอายุมากกว่า 208 ปี เพราะว่าเมื่อปี พ.ศ.2351 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ครั้งอายุได้ 21 ปี สมเด็จพระลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอดิศร สุนทร พระ บรมโอรสาธิราช ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงรับภาระบรรพชาเป็นนาคหลวง โดยให้มาบวชที่วัดตะไกร จ.พิษณุโลก เนื่องจากโยมแม่และญาติมีภูมิลำเนาอยู่พิษณุโลก ก่อนไปประจำอยู่กับพระสังฆราชวัดมหาธาตุ ซึ่งพบว่ามีบ่อน้ำโบราณอยู่ก่อนแล้ว เดิมทีวัดตะไกร คือวัดราชบูรณะและวัดนางวัดพญาที่มีประวัติในตำนานว่าเป็นวัดเดียวกัน เรียกว่าวัดตะไกร ต่อมาได้มีการสร้างถนนมิตรภาพตัดผ่านกลางวัดจึงแยกออกเป็นวัดนางพญาและวัดราชบูรณะ ทำให้บ่อน้ำโบราณนี้อยู่ในส่วนของวัดราชบูรณะ เพราะอยู่ใกล้อุโบสถ เมื่อครั้งเป็นวัดตะไกรเป็นบ่อศิลาแลง คาดว่า มีการขุดบ่อพร้อมกับการก่อสร้างวัด