นายแพทย์ปิยะ ศิริลักษณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า โรคความดันโลหิตสูงกำลังเป็นภัยคุกคามสุขภาพคนไทย ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอย่างเรื้อรัง เพราะส่งผลกระทบให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรัง อัมพฤกษ์ อัมพาต ซึ่งสร้างปัญหาครอบครัวตามมาด้วย โรคนี้เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพเรื่องการรับประทานอาหารหวานมันเค็ม รับประทานแป้งในปริมาณมาก กับขาดการออกกำลังกายเป็นหลัก ผนวกกับปัญหาความเครียดที่เกิดจากสังคมที่มีปัญหาซับซ้อนมากขึ้น
ด้านสถานการณ์โรคความดันโลหิตสูงในจังหวัดพิษณุโลก พบว่า มีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นนับพันคนต่อปี ล่าสุดในปี 2558 พบผู้ป่วยความดันโลหิตสูงรายใหม่ 2,534 คน แม้ว่าจะมีแนวโน้มลดลงจากปีที่ผ่านมาแต่จำนวนผู้ป่วยสะสมมากขึ้น เฉพาะผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่มาขึ้นทะเบียนรับการรักษาปัจจุบันมี 64,558 คน ในจำนวนนี้สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ดีร้อยละ 70.60 สูงสุดที่อำเภอชาติตระการที่ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงดูแลตนเองได้ดีร้อยละ 93.45 ขณะที่อำเภอวังทองน่าเป็นห่วงเพราะผู้ป่วยความดันโลหิตสูงควบคุมความดันได้ดีเพียงร้อยละ 45.32 ผู้ป่วยที่ควบคุมความดันโลหิตสูงไม่ดีจะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองตามมา จากข้อมูลในปี2558 พบว่าอำเภอพรหมพิรามมีอัตราการตายจากโรคหลอดเลือดสมองสูงสุด รองลงมาคืออำเภอวังทองและอำเภอบางกระทุ่มตามลำดับ รวมแล้วทุกอำเภอมีผู้เสียชีวิตจากโรคเลือดสมองในปี 2558 จำนวน 447 คน นับว่าเป็นเพชฌฆาตเงียบที่คร่าชีวิตคนพิษณุโลกไปมากมายทีเดียว บางรายที่ได้รับการเยียวยาทัน ยังมีอาการอัมพฤกษ์ อัมพาตเกิดขึ้นหลงเหลืออยู่อีกด้วย นอกจากนี้ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นกับไตในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงนับว่าเป็นปัญหาสำคัญ พบว่า ปี 2558 ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงในจังหวัดพิษณุโลกมีภาวะดังกล่าว 11,228 คน คิดเป็นร้อยละ 17.4 ของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงทั้งหมด นับว่าเป็นภาระโรคทั้งการสูญเสียศักยภาพในการดำเนินชีวิตประจำวัน การเลี้ยงชีพ และรบกวนสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลกจึงขอเชิญชวนให้ประชาชนใส่ใจดูแลสุขภาพให้พ้นจากภัยความดันโลหิตสูง ด้วยการเลือกรับประทานอาหารประเภทผัก ผลไม้(ที่ไม่หวาน)ให้มาก ลดอาหารหวาน มัน เค็ม แป้ง ปรุงอาหารด้วยวิธีต้ม หลีกเลี่ยงการทอด ลดไขมัน เพิ่มการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ วันละอย่างน้อย 30 นาที หากไม่สามารถแบ่งเวลาได้ ให้หาโอกาสเดินบ่อยๆในชีวิตประจำวัน หลีกเลี่ยงจากสุรา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ เพราะล้วนแล้วแต่ทำให้ความดันโลหิตสูง ท้ายที่สุดคือการตรวจวัดความดันโลหิตตามสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งเพื่อประเมินภาวะสุขภาพของตนเอง