นายฐานุพงศ์ เจริญสุรภิรมย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า ด้วยกระทรวงมหาดไทย แจ้งว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก ในปี 2558 ของกระทรวงสาธารณสุข พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 40,517 ราย มีผู้เสียชีวิต 3 ราย คิดเป็น อัตราป่วย 62.21 ต่อแสนประชากร เมื่อเทียบกับ ปี 2557 มีผู้ป่วยลดลงจำนวน 24,713 ราย คิดเป็นร้อยละ 38 โดยส่วนใหญ่พบทั้งวัยเด็กเล็กและเด็กโต โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในความดูแลของสถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล ซึ่งเด็กอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก แม้ว่าส่วนใหญ่อาการของโรคจะไม่รุนแรงแต่บางรายอาจมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้
จังหวัดพิษณุโลก พิจารณาแล้วเพื่อเป็นการป้องกันการเสียชีวิตและระบาดอย่างเป็นวงกว้างของโรคดังกล่าว จึงขอความร่วมมือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแนวทางการเตรียมความพร้อมตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคมือ เท้า ปาก ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเข้มข้นและขอให้หน่วยงานสาธารณสุขในจังหวัดพิษณุโลกทุกแห่ง เฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก ที่มาในหน้าฝน ป้องกันการระบาดช่วงเปิดเทอม โดยประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเขตพื้นที่การศึกษา ให้ดำเนินการ ตามมาตรการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคมือ เท้า ปาก ในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล เน้นการรักษาความสะอาดในห้องเรียน วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ และตรวจคัดกรองเด็กป่วยทุกวัน ถ้าพบป่วยหรือสงสัย แยกเด็กป่วยและให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติ เพิ่มความเข้มข้นในฤดูกาลระบาด ช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคมนี้
สำหรับโรคมือเท้าปาก เกิดจากเชื้อไวรัสที่พบในลำไส้หลายชนิด เรียกว่า เอ็นเทอโรไวรัส ที่พบบ่อยคือเชื้อคอกแซกกี เอ 16โดยเชื้อไวรัสเข้าไปทางปาก จากการที่มือสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย น้ำในตุ่มพองหรือแผลของผู้ป่วย และอุจจาระของผู้ป่วย ผู้ได้รับเชื้อส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ อาจมีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ มีผื่น ตุ่มน้ำใส หรือเม็ดแดงๆ ในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือก้น ส่วนใหญ่จะหายได้เอง ภายใน 7 – 10 วัน มีเพียงประมาณ 1 ใน 10,000 ราย ที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ โดยเชื้อเอนเทอโรไวรัสที่รุนแรงที่สุด คือ เอ็นเทอโรไวรัส 71 ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรง มักไม่มีอาการของโรคมือเท้าปาก แต่จะมีไข้ อาเจียนและถ่ายเหลวรุนแรง ร่างกายขาดน้ำ ปอดบวมน้ำ หอบเหนื่อย ซึม ชักเกร็ง คอแข็ง กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ สมองอักเสบ ช็อก หมดสติ และเสียชีวิตจากทางเดินหายใจและหัวใจล้มเหลว ซึ่งโรคนี้ ไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีนป้องกันโรค หากป่วยแพทย์จะรักษาตามอาการ วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องให้ความสำคัญกับการรักษาความสะอาด และสิ่งของเครื่องใช้ โดยเฉพาะในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล ซึ่งเด็กจะอยู่รวมกันและเล่นของเล่นร่วมกัน โดยเฉพาะในเด็กเล็กจะชอบหยิบของเล่นเข้าปาก จะต้องดูแลให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ล้างทำความสะอาดของเล่น อุปกรณ์ ของใช้ และสถานที่ อย่างสม่ำเสมอ หากพบเด็กป่วยเพิ่มขึ้นผิดปกติ ต้องรีบแจ้งหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ทันที