นายบุญทรง แทนธานี นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก กล่าวว่า ด้วยกองการประปา เทศบาลนครพิษณุโลก มีภารกิจหลักในการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาให้แก่ประชาชน เริ่มประกอบกิจการประปาเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2497 ปัจจุบันมีกำลังการผลิตน้ำประปา 2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ปริมาณการจ่ายน้ำประปาต่อวัน จำนวน 56,363 ลูกบาศก์เมตร มีผู้ใช้น้ำประปา จำนวน 32,637 ราย การปรับปรุงระบบผลิตน้ำประปาครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ.2545 กองการประปา มีถังเก็บน้ำใส 2 แห่ง ได้แก่ สถานีจ่ายน้ำประปาวัดโพธิญาณ มีความจุของถังน้ำใส 7,300 ลูกบาศก์เมตร และสถานีจ่ายน้ำประปาวัดใหม่อภัยยาราม มีขนาดความจุ 3,000 ลูกบาศก์เมตร มีปริมาณการเก็บน้ำประปา จำนวน 10,300 ลูกบาศก์เมตร ความต้องการใช้น้ำประปา จำนวน 56,363 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ปัจจุบันเมืองพิษณุโลกมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมีการสร้างบ้านพักอาศัย โรงแรม หอพัก อพาร์ตเมนท์ ห้างสรรพสินค้า เพิ่มมากขึ้น มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นและมีความต้องการใช้น้ำประปาเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 500 ราย ปริมาณการใช้น้ำประปาเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 113,000 ลูกบาศก์เมตร ท่อเมนจ่ายน้ำประปามีอายุการใช้งานนานมีสภาพเก่าและเกิดชำรุดน้ำประปารั่วไหลทำให้เกิดการสูญเสียน้ำประปาในปริมาณมาก สาเหตุเพราะระบบจ่ายน้ำประปาเดิมถูกออกแบบโดยกรมโยธาธิการ ซึ่งได้ออกแบบไว้เป็นโครงข่ายการจ่ายน้ำทั้งเมืองมีแหล่งจ่ายน้ำที่ฝ่ายผลิตและบริการ(วัดโพธิญาณ) เป็นจุดจ่ายน้ำหลักเพียงแห่งเดียว และมีจุดจ่ายน้ำเสริมแรงดันที่วัดใหม่อภัยยาราม ทำให้ต้องจ่ายน้ำประปาด้วยแรงดันที่สูง เพื่อให้แรงดันที่ปลายเส้นท่อมีแรงดันที่เหมาะสมให้ผู้ใช้น้ำได้ใช้น้ำได้อย่างเพียงพอ แต่จะทำให้ท่อเมนประปาต้นทางเกิดการแตกรั่ว เนื่องจากเป็นท่อเมนเก่า ทนแรงดันไม่ไหว ทำให้ต้องหยุดจ่ายน้ำประปา เพื่อทำการซ่อมแซมท่อเมนบ่อยครั้ง จากการขยายตัวของเมืองและปัญหาระบบจ่ายน้ำประปาเก่าและชำรุด จึงทำให้ปริมาณน้ำประปาบริเวณฝั่งตะวันตก และบริเวณฝั่งตะวันออกตั้งแต่ถนนราษฎร์อุทิศไปจนถึงวัดพันปี ซึ่งอยู่ห่างจากสถานีจ่ายน้ำประปาวัดโพธิญาณและสถานีวัดใหม่อภัยยาราม ประสบกับปัญหาน้ำประปาไหลอ่อน ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการไม่มีน้ำประปาใช้เพื่อการอุปโภคและบริโภคอย่างเพียงพอ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าว กองการประปาจึงได้จัดทำแผนดำเนินงานปรับปรุงระบบประปาและระบบท่อจ่ายน้ำประปา
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีสถานีจำหน่ายน้ำประปาย่อย ในการให้บริการน้ำประปาได้อย่างทั่วถึงสามารถควบคุมแรงดันน้ำในเส้นท่อ ให้ครอบคลุมพื้นที่การจ่ายน้ำประปา รวมถึงควบคุมการสูญเสียน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการพัฒนาระบบประปาและปรับปรุงระบบท่อเมนจ่ายน้ำประปา ให้มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับของประชาชน เพื่อให้มีแผนการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำประปาให้เพียงพอสำหรับการอุปโภคและบริโภค และสร้างความมั่นใจในคุณภาพน้ำประปาให้แก่ประชาชน และรองรับการขยายตัวของจำนวนครัวเรือนและประชากรในเขตพื้นที่การให้บริการที่จะเพิ่มขึ้น เพื่อให้มีการวางแผนการปฏิบัติงานได้สะดวก รวดเร็ว มีคุณภาพได้มาตรฐาน มีเครื่องมือ เครื่องใช้ในการปฏิบัติงานที่ทันสมัย
การก่อสร้างปรับปรุงระบบประปาและระบบท่อจ่ายน้ำประปาในเขตเทศบาลนครพิษณุโลก มีดังนี้
สถานีจ่ายน้ำประปาฝ่ายผลิต (วัดโพธิญาณ) การปรับปรุงท่อจ่ายน้ำประปาภายในสถานีและพื้นที่จ่ายน้ำถนนธรรมบูชา ถนนพญาเสือ ถนนมิตรภาพ ฝั่งเหนือทาง ถนนพระองค์ขาว และถนนชัยบุรี ความยาวท่อรวม 11,837 เมตร
สถานีจ่ายน้ำประปาย่อยวัดใหม่อภัยยาราม การปรับปรุงท่อจ่ายน้ำประปาภายในสถานีและพื้นที่จ่ายน้ำถนนบรมไตรโลกนารถ ถนนมิตรภาพ ฝั่งใต้ทาง ถนนพิชัยสงคราม ถนนสนามบิน และถนนมาลาเบี่ยง ความยาวท่อรวม 14,037เมตร
สถานีจ่ายน้ำประปาย่อยฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดำเนินการดังนี้
(1) ก่อสร้างถังเก็บน้ำใสขนาด 2,000 ลูกบาศก์เมตร
(2) ก่อสร้างโรงสูบจ่ายน้ำแรง สูง พร้อมเครื่องสูบน้ำและอุปกรณ์ประปา
(3) ก่อสร้างท่อส่งน้ำจากสถานีจ่ายน้ำประปาฝ่ายผลิต (วัดโพธิญาณ) ถึงสถานีจ่ายน้ำย่อยฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลนครพิษณุโลก ปรับปรุงระบบท่อจ่าย น้ำประปา ถนนบรมไตรโลกนารถ 2 ถนนพุทธบูชา ถนนสังฆบูชา ถนนบรมไตรโลกนารถ ซอย 32 ถนนราษฎร์อุทิศ ถนนพิษณุโลก-บึงพระ ถนนบึงพระจันทร์ และซอยราชมาตร ความยาวท่อรวม 15,821 เมตร
สถานีจ่ายน้ำประปาย่อยบ้านคลอง (วัดแก้วร้าง) ดำเนินการดังนี้
(1) ก่อสร้างถังเก็บน้ำใสขนาด 2,000 ลูกบาศก์เมตร
(2) ก่อสร้างโรงสูบจ่ายน้ำแรงสูง พร้อมเครื่องสูบน้ำและอุปกรณ์ประปา
(3) ก่อสร้างท่อส่งน้ำจากสถานีจ่ายน้ำประปาฝ่ายผลิต (วัดโพธิญาณ) ถึงสถานีจ่ายน้ำประปาย่อย บ้านคลอง (วัดแก้วร้าง) และปรับปรุงระบบท่อจ่ายน้ำประปาถนนคลองสุภา ถนนสิงหวัฒน์ ถนนพระลือ ถนนประชาอุทิศ ถนนไชยานุภาพ ถนนสีหราชเดโชชัย ถนนพระลือซอย 1 และ ถนนราษฎร์เพ็งสาย ความยาวท่อรวม 13,241 เมตร
สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่มีวงเงินลงทุนสูงจำเป็นต้องใช้แหล่งเงินกู้อัตราดอกเบี้ยจากสถาบันการเงินเพื่อดำเนินโครงการ โดยใช้งบประมาณ 300 ล้านบาท จึงมีความจำเป็นต้องมีการปรับอัตราค่าน้ำที่สูงขึ้นเพื่อนำรายได้มาผ่อนชำระหนี้เงินกู้ โดยกำหนดจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในวันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม 2559 สำหรับผู้ใช้น้ำในพื้นที่โซนที่ 1 เวลา 08.30-12.00 น. สำหรับผู้ใช้น้ำในพื้นที่โซนที่ 2 เวลา 13.00-16.30 น. และ ในวันที่ 9 ตุลาคม 2559สำหรับผู้ใช้น้ำในพื้นที่โซนที่ 3 เวลา 08.30-12.00 น. สำหรับผู้ใช้น้ำในพื้นที่โซนที่ 4 เวลา 13.00-16.30 น. ณ ห้องประชุมโรงเรียนอนุบาลเทศบาลนครพิษณุโลก