นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยเกี่ยวกับแนวทางการป้องกันเด็กจมน้ำและเสียชีวิตในช่วงหน้าฝนและตรงกับช่วงปิดเทอม ว่า สถานการณ์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี พ.ศ.2549 – 2558 เฉพาะเดือนตุลาคมเดือนเดียว พบเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีจมน้ำเสียชีวิตสูงถึง 1,101 คน เฉลี่ยวันละ 3.5 คน ปัจจัยสำคัญคือเป็นช่วงปิดเทอม และมีฝนตกหนัก ระดับน้ำในแหล่งน้ำมีความเชี่ยวแรง มีน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ เด็กส่วนใหญ่มักชวนกันไปเล่นน้ำกันเองตามลำพัง จากข้อมูลพบว่า เด็กส่วนใหญ่จะรู้สึกคุ้นเคยกับแหล่งน้ำที่ไปเล่น แต่ไม่ทราบระดับความลึกของน้ำที่เปลี่ยนแปลงไปจากฝนตกหรือมีน้ำขังเป็นเวลานาน
อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข ขอให้ประชาชน ภาครัฐ เอกชน ชุมชน และท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ของตนเองเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กไทยเสียชีวิตจากการจมน้ำ เพราะสามารถป้องกันได้ โดยการสำรวจแหล่งน้ำเสี่ยง พร้อมเฝ้าระวัง จัดทำป้ายเตือนหรือแนวกั้นขอบบ่อไว้ให้เห็นอย่างชัดเจน พร้อมทั้งติดตั้งอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำที่หาได้ง่าย ที่ใกล้ๆบริเวณแหล่งน้ำ เช่น ถังแกลลอนพลาสติก นกหวีด ไม้ยาว เสื้อชูชีพ ผู้ปกครองไม่ควรปล่อยเด็กเล่นน้ำตามลำพัง แม้จะเป็นแหล่งน้ำใกล้บ้านหรือแหล่งน้ำที่คุ้นเคยก็ตาม เพราะสภาพใต้น้ำ ระดับความลึก ความแรงของกระแสน้ำอาจเปลี่ยนไปจากเดิมเนื่องจากฤดูฝน ดังนั้น หากตกอยู่ในอันตรายขณะอยู่ในน้ำ พยายามตั้งสติ และนอนลอยตัวหงาย กอดอุปกรณ์ลอยน้ำที่สามารถหาได้ จากนั้นโบกมือเพื่อขอความช่วยเหลือ และหากพบผู้ที่กำลังจมน้ำ ให้ใช้หลักการตะโกน โยน ยื่น เพื่อช่วยเหลือ ซึ่งเป็นกฎในการช่วยเหลือคนจมน้ำในเบื้องต้น
แม้ในช่วงเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2558 จะพบว่ามีเด็กจมน้ำเสียชีวิตลดลงจากปี พ.ศ. 2556 เกือบร้อยละ 50 แต่จากข้อมูลล่าสุดปี 2559 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกรกฎาคม พบเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตไปแล้วจำนวน 327 คน อย่างไรก็ตามเด็กไทยไม่ควรจมน้ำเสียชีวิตเลยแม้แต่รายเดียวเพราะการจมน้ำเป็นสิ่งที่ป้องกันได้โดยการร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน