ที่โรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ ตำบลหอกลอง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงพื้นที่ปฏิบัติราชการเพื่อตรวจเยี่ยมสหกรณ์การเกษตรพรมพิราม จำกัด เพื่อติดตามผลการดำเนินการขับเคลื่อนโครงการบางระกำโมเดล พร้อมทั้ง ร่วมหารือแนวทางการส่งเสริมเกษตรกรสมาชิกปลูกข้าวพันธุ์ กข43 ในเขตพื้นที่โครงการบางระกำโมเดล
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า โครงการบางระกำโมเดล มีพื้นที่ครอบคลุม 4 อำเภอในจังหวัดพิษณุโลก พื้นที่ รวม 179,157 ไร่ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ปรับปฏิทินการเพาะปลูกข้าวในเขตพื้นที่ลุ่มต่ำให้เร็วขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการบริหารจัดการน้ำ โดยการส่งเสริมให้เกษตรกรเริ่มทำการเพาะปลูกข้าวในช่วงเดือนเมษายน ของทุกปี สำหรับพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรนิยมใช้ทำการเพาะปลูก ได้แก่ พันธุ์พิษณุโลก 2, กข.61, กข.41 และ กข49 เป็นข้าวอายุสั้นเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และให้ผลผลิตดี แต่พอถึงช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวที่ผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดพร้อมกันในปริมาณมาก จึงส่งผลทำให้เกิดปัญหาราคาตกต่ำ เกิดผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกร
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ จัดทำแผนการตลาดนำการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งในปีนี้ ได้เริ่มดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกรนาแปลงใหญ่ปลูกข้าวสายพันธุ์ กข43 ซึ่งเป็นข้าวที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดโดยเฉพาะในกลุ่มคนรักสุขภาพ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะขยายพื้นที่การเพาะปลูกเพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการของตลาด ดังนั้น หากมีการขยายผลเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกข้าวสายพันธุ์ กข43 ในเขตพื้นที่บางระกำโมเดล โดยการส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มทำการเพาะปลูก จึงเป็นโอกาสที่จะช่วยทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ กล่าวอีกว่า ได้กำหนดแนวทางให้สำนักงานสหกรณ์จังหวัดพิษณุโลก ดำเนินการร่วมกับสหกรณ์การเกษตรพรหมพิราม จำกัด และสหกรณ์การเกษตรนิคมฯ บางระกำ จำกัด ชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกรสมาชิกในเขตพื้นที่บางระกำโมเดล ให้รับรู้ถึงประโยชน์และวิธีการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวจากสายพันธุ์เดิม เป็นพันธุ์ข้าว กข43เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่เกษตรกรว่ามีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอนและได้รับราคาที่เหมาะสมซึ่งจะคัดเลือกเกษตรกรที่สนใจมาเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตข้าวคุณภาพตามมาตรฐาน GAP โดยสหกรณ์ฯ จะทำหน้าที่เป็นผู้จัดการแปลงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดูแลบริหารจัดการพื้นที่การเพาะปลูกข้าวในทุกกิจกรรมตั้งแต่การจัดหาเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานจากกรมการข้าวมาจำหน่ายให้แก่เกษตรกรสมาชิก ดูแลขั้นตอนการผลิต การควบคุมคุณภาพผลผลิตและการเก็บเกี่ยวเพื่อให้ได้ผลผลิตข้าวที่มีคุณภาพมาตรฐานผ่านการตรวจรับรองแหล่งผลิตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยใช้ระบบ QR Trace ซึ่งผู้บริโภคสามารถสแกน QR Code เพื่อตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของแหล่งผลิตข้าวได้ซึ่งในทุกขั้นตอนของการผลิตข้าวจะบันทึกลงในทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกทุกราย เมื่อถึงช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิต สหกรณ์จะดำเนินการรวบรวมผลผลิตข้าวจากเกษตรกร โดยประสานงานเพื่อเชื่อมโยงกับหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ในการจัดหาตลาดรับซื้อผลผลิตข้าวผ่านสหกรณ์ ต่อไป
ด้าน นายสมศักดิ์ แสนศิริ สหกรณ์จังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการที่ผ่านมา สหกรณ์การเกษตรพรหมพิราม จำกัด ได้ดำเนินการรวบรวมผลผลิตข้าวเปลือกจากสมาชิกและเกษตรกรทั่วไปที่อยู่ในพื้นที่โครงการบางระกำโมเดล มีปริมาณ 19,862 ตัน คิดเป็นมูลค่า 125,820,612 บาท โดยสหกรณ์รับซื้อในราคานำตลาด เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำและช่วยเหลือเกษตรกร อีกทางหนึ่งด้วย