นายแพทย์ปิยะ ศิริลักษณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลกเปิดเผยว่า ด้วยวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปีรัฐบาลจึงได้กำหนดให้เป็น “วันแรงงานแห่งชาติ ซึ่งในระบบเศรษฐกิจนั้น แรงงานถือเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ก่อให้เกิดผลผลิต ความมั่นคงก้าวหน้าหรือความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ จากผลการสำรวจภาวะสุขภาพของประชาการวัยแรงงานไทยโดยภาพรวม และภาวะสุขภาพที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงาน, ภาวะสุขภาพที่เกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ และภาวะสุขภาพสตรีวัยแรงงาน พบว่ามีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมดของประเทศ ส่วนใหญ่ของประชากรวัยแรงงาน(51-56%)ทำงานภาคเกษตรกรรม ที่เหลือทำงานในภาคอุตสาหกรรม (16%) และภาคบริการ (12%) จากรายงานภาระโรคและการบาดเจ็บในประชากรไทย พบว่า การตายก่อนวัยอันควรในกลุ่มวัยทำงาน อายุ15- 59 ปี อันดับแรกในเพศชาย คือ อุบัติเหตุ มะเร็ง และโรคหัวใจและหลอดเลือด ส่วนผู้หญิงอันดับหนึ่งคือ มะเร็ง รองมาคือ โรคหัวใจและหลอดเลือด และอุบัติเหตุ ส่วนด้านจิตใจ มีวัยทำงานบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตผ่านสายด่วน 1323 กรมสุขภาพจิต มากที่สุดคือ ความเครียดหรือวิตกกังวล
ในส่วนของจังหวัดพิษณุโลกสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลกได้เชิญชวนสถานประกอบการเข้าร่วมพัฒนาตามเกณฑ์“สถานประกอบการ ปลอดโรค ปลอดภัย กายใจเป็นสุข” ของกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา เกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดมีตั้งแต่การกำหนดนโยบายด้านสุขภาพของสถานประกอบการ การเฝ้าระวังโรคจากการทำงาน การจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพให้กับแรงงานปัจจุบันมีสถานประกอบการผ่านเกณฑ์ประเมินระดับประเทศและเขตได้ถึงร้อยละ 20.68 ของสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ โดยสถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์ระดับประเทศ ประกอบด้วย บริษัทไทยแอโรว์ จำกัด, บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) โรงงานผลิตอาหารสัตว์พิษณุโลก, บริษัท มอนซานโต้ ไทยแลนด์ จำกัด และบริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด
ด้านการจัดบริการคลินิกโรคจากการทำงาน เพื่อตรวจคัดกรองโรคที่เกิดจากการทำงานมีการจัดบริการ ในโรงพยาบาลพุทธชินราช และโรงพยาบาลชุมชนคือ โรงพยาบาลวังทองซึ่งถ้าหากตรวจพบความผิดปกติจะส่งรักษาต่อในโรงพยาบาลตามสิทธิ ส่วนกลุ่มแรงงานนอกระบบ ได้จัดตั้งคลินิกบริการสุขภาพเกษตรกรในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 147 แห่ง เพื่อดูแลคัดกรองความเสี่ยงด้านสุขภาพจากการทำงาน ให้กับแรงงานเกษตรกร และแรงงานในชุมชน และมีกระบวนการส่งต่อรับการรักษา ฟื้นฟูที่โรงพยาบาลรวมทั้งโครงการดูแลสุขภาพให้กับกลุ่มคนขับรถสาธารณะและรถตู้รับส่งนักเรียนในจังหวัดพิษณุโลก จำนวน 100คน
กระบวนการและแนวทางในการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยของวัยทำงาน เพื่อลดโรคและลดความเสี่ยงจากการทำงาน สิ่งสำคัญต้องอาศัยความร่วมมือจากสถานประกอบการทั้งตัวนายจ้าง และคนงาน เพื่อกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมในการดูแลสุขภาพร่วมกัน เช่น ออกกำลังกาย หรือหากิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายช่วงพัก ใช้เดินขึ้นบันไดแทนใช้ลิฟท์ สร้างสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ โรคเรื้อรังต่างๆ รวมถึงโรคมะเร็งซึ่งถ้าสถานประกอบการจัดให้มีการส่งเสริมในการดำเนินกิจกรรมการดูแลสุขภาพให้กับคนงานของตน ก็จะทำให้คนงานหรือลูกจ้างมีสุขภาพแข็งแรง สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อสถานประกอบการในที่สุด