วันที่ 9 มิถุนายน 2562 ผู้สื่อข่าวได้มีโอกาสเดินทางไปที่วัดน้ำปาด บ้านน้ำปาด หมู่ที่ 2 ตำบลชมพู อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ตั้งใจจะไปชมงานบุฟเฟ่ทุเรียน แต่สายตาไปสะดุดกับโบสถ์เก่าขนาดเล็ก ๆ แต่มีเสน่ห์ดึงดูดให้ต้องเดินเข้าไปจ้องมอง ด้วยตัวโบสถ์มีภาพเขียนทราบภายหลังว่าเป็นการใช้สีแบบธรรมชาติ จากภูมิปัญญาของชาวบ้านในสมัยอดีต ได้บรรจงสร้างจิตกรรมฝาผนังที่บอกเล่าเรื่องราวความเชื่อของคนในสมัยนั้น เป็นที่น่าศึกษาและอนุรักษ์ไว้ โบสถ์หลังดังกล่าวตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดน้ำปาด มีพื้นที่กว้างขวางพอสมควร ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้สีเขียว แต่มีสภาพทรุดโทรมตามการเวลา ฝาผนังนั้นเริ่มแตกร้าวแยกออกจากกัน ทางวัดจึงได้นำสลิงมามัดตรึงตัวอาคารเอาไว้ เพื่อพยายามรักษาภาพจิตกรรมอันทรงคุณค่านี้ไว้ พร้อมได้ทำการซ่อมแซมบ้างส่วนเช่นสร้างหลังคาสังกะสีคลุมไว้เพื่อกันแดดกันฝน และนกเข้ามาทำรังหรือถ่ายอุจระเลอะเทอะอาจทำให้จิตรกรรมฝาผนังเสียหายได้ เราก็วนเวียนสอบถามหาผู้รู้ความเป็นมาของจิตกรรมบนฝาผนังของโบสถ์หลังนี้ เนื่องจากเจ้าอาวาสท่านไปทำธุระข้างนอก เราจึงนั่งรอ
พระอธิการสมชาย เจ้าอาวาสวัดน้ำปาด หลังจากท่านเสร็จธุระกลับมายังวัด กล่าวว่า ท่านเป็นคนบ้านนี้ บวชตั้งแต่ พ.ศ.2528 นับ 34 พรรษา โบสถ์ดังกล่าว เป็นโบสถ์มหาอุตต์จะมีทางเข้า-ออก อยู่ประตูเดียว แต่โบราณพระภิกษุสงฆ์มักจะมาสวดมนต์ภายในอุโบสถเป็นประจำ และเชื่อว่าจะท่องจำวิชาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เมื่อก่อนน้ำท่วมหนักบริเวณลานวัดหรือโดยรอบก็จะท่วมหมด แต่ จุดนี้ไม่ท่วม และเคยมีพระมาสวดมนต์กัน พระเป็นร้อย ๆ รูป พื้นที่มีอยู่แค่นี้ก็พากันเข้าไปนั่งสวดมนต์ได้หมด ก็เป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ใจอยู่เหมือนกัน ตั้งแต่อาตมาได้มาจำวัด และเป็นเจ้าอาวาสที่วัดแห่งนี้ ก็พยายามสอบถามความเป็นมาจากผู้เฒ่า ผู้แก่ ชาวบ้านในพื้นที่อยู่เรื่อย ๆ ทราบว่าอายุน่าจะมากกว่า 100 ปี ภายในอุโบสถจะมีพระประธานรูปหล่อสำริด เป็นที่สักการะของคนในหมู่บ้าน บริเวณโดยรอบทั้งด้านในและด้านนอกจะมีจิตรกรรมที่วาดโดยช่างพื้นบ้านทราบว่าเป็นช่างจากจังหวัดแพร่ เป็นภาพเล่าเรื่องราวการทำความดีความชั่ว ความเชื่อของชาวบ้าน และวิถีชาวบ้านในยุคนั้น อาทิ การทำบาปจะตกนรก มีภาพรถไฟกรุงเทพ-ชียงใหม่ เป็นต้น
สร้างความน่าสนใจแก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก โบสถ์หลังนี้สร้างด้วยภูมิปัญญาของชาวบ้านอย่างแท่จริง โดยนำอิฐในพื้นที่มาก่อสร้าง ไม่มีการใช้เหล็ก ไม่มีเสา จึงทำให้เมื่อเวลาผ่านไปนาน ๆ โบสถ์เริ่มแตกแยกร้าวทรุดโทรมตามธรรมชาติ แต่ทางวัดก็ได้พยายามบูรณะโดยมีการสร้างหลังคาคลุมเพื่อกันแดดกันฝน และใช้เหล็กมามัดขึงรอบโบสถ์กันโบสถ์พัง และได้ติดต่อผ่านทางวัฒนธรรมอำเภอให้ช่วยเข้ามาบูรณะ ขณะนี้อยู่ในระหว่างรอให้สำนักศิลปกรที่ 6 หาวิธีที่จะบูรณะซ่อมแซมโบสถ์ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางศิลปะ วัฒนธรรม และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับบ้านน้ำปาด ตำบลน้ำปาด อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ต่อไป