วันนี้ (8 ก.ค. 63) เวลา 09.00 น. ที่ ห้องดอยคำ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง และ พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ร่วมกับนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และคณะกรรมการกลั่นกรองและขับเคลื่อนการปฏิบัติงานตามนโยบาย ประชุมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ซึ่งเป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแห่งแรกในรัชสมัยปัจจุบัน เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยได้มีการดำเนินโครงการวิจัยในพื้นที่ ได้แก่ การวิจัย ทดสอบพันธุ์ข้าวบนพื้นที่สูงที่ไม่ไวต่อช่วงแสง โครงการวิจัยและพัฒนาการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อเป็นธนาคารอาหารชุมชนบนพื้นที่สูงในอนาคต โดยการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง โครงการวิจัยศึกษาการปลูกป่าและวนเกษตรบนพื้นที่สูง เพื่อเป็นตัวอย่างรูปแบบวนเกษตร ปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์พื้นที่ของเกษตรกร การรณรงค์การปลูกพืชเหลื่อมถั่วในแปลงข้าวโพด เพื่อเป็นพืชคลุมดิน และลดการพังทลายของหน้าดิน และการจัดทำแปลงสาธิตไม้ผลในบริเวณศูนย์ ได้แก่ แมคคาเดเมีย เสาวรส รวมทั้งยังมีแปลงสาธิตในหมู่บ้านจ่อคี เพื่อให้เป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้ และเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรในพื้นที่
นอกจากนี้ โครงการหลวงยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ชาขาวพร้อมชง ไดยได้เริ่มทดลองตลาดมาแล้วระยะหนึ่ง ซึ่งชาขาวเป็นชาที่แปรรูปมาจากยอดชาอัสสัมที่ผ่านกระบวนการแปรรูปน้อยที่สุด โดยเก็บยอดอ่อนชาอัสสัม เพียง 1 ยอด นำไปผ่านกระบวนการ ทำให้แห้งด้วยการผึ่งแบบประณีต พลิกกลับใบชาจนแห้ง นำไปอบไล่ความชื้น จึงได้เส้นชาขาว ที่สวยงามและมีกลิ่นหอม จากปีที่ผ่านมา ชาขาวเป็นสินค้าที่เป็นที่นิยม มีปริมาณไม่เพียงพอต่อการจำหน่าย ดังนั้น เพื่อเป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์ โครงการหลวงจึงได้ออกแบบและพัฒนาชาขาวในรูปชาพร้อมชงในถุงพีระมิด ผ่านการผลิตที่ได้รับการรับรองคุณภาพ GMP CODEX ซึ่งจะมีจำหน่ายในร้านโครงการหลวงสาขาต่างๆ ทั่วประเทศ และในงานโครงการหลวง 51 ซึ่งมีกำหนดจัดระหว่างวันที่ 6-16 สิงหาคม 2563 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และสถานการณ์ภัยแล้งที่ผ่านมา ผลิตผลทุกชนิดของเกษตรกรในพื้นที่ส่งเสริมทั้ง 39 แห่ง ได้มีการ กระจายไปยังที่ต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งมีปริมาณผลิตผลที่รับซื้อจากเกษตรกรชาวเขาในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงมิถุนายนที่ผ่านมา มูลค่ารวมกว่า 760 ล้านบาท นอกจากนี้โครงการหลวงยังได้นำผลิตผลไปมอบให้แก่องค์กรภาครัฐ เอกชน องค์กรการกุศล ทั้ง โรงพยาบาล ทัณฑสถาน สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า โรงเรียน และวัด เพื่อประกอบอาหารแจกแก่ผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งองค์กรที่ดูแลสัตว์ รวมทั้งนำงบประมาณในการจัดฝึกอบรม ซึ่งไม่สามารถดำเนินการได้ในช่วงที่ผ่านมากว่า 4 ล้านบาท ไปช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบแก่เกษตรกรในพื้นที่ โดยเร่งซ่อมแซมบ่อ อ่างกักเก็บน้ำ ขุดลอกแหล่งน้ำที่ตื้นเขิน สร้างฝายชะลอน้ำ จัดทำระบบการกระจายน้ำสู่แปลงเกษตร และจัดหาอุปกรณ์นำน้ำจากแหล่งธรรมชาติไปให้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของชุมชนอีกด้วย