วันที่ 16 กันยายน 2564 กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 แถลงข่าวประชาสัมพันธ์ ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 150 ศูนย์เสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พันเอก นายแพทย์ วิโรจน์ ชนม์สูงเนิน รองโฆษกกองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 เป็นผู้แถลงข่าวฯ มีสาระสำคัญดังนี้
ไข้หูดับ หรือโรคติดเชื้อ สเตรฟโตคอกคัส ซูอิส ( Streptococcus Suis ) คือ เชื้อที่ทำให้สุกรป่วย และตายบ่อย ซึ่งในโรคไข้หูดับเป็นการติดต่อจากหมูสู่คนได้ ผู้ป่วยที่พบเป็นกลุ่มชายวัยกลางคน และผู้สูงอายุ กว่าครึ่งของผู้ป่วยมีประวัติดื่มสุราเป็นประจำ มักพบว่ามีโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ไต มะเร็ง ยังมีประวัติการรับประทานลาบ หลู้ ส้า ดิบ มีรายงานพบผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น สำหรับพื้นที่ที่มีผู้ป่วยมากที่สุดในประเทศ คือ ภาคเหนือ จำนวน เกือบ 3 ใน 4 ของผู้ป่วยทั้งหมด จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ พะเยา อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร นครสวรรค์ และสระแก้ว
ผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับ ได้แก่
1. ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรคโดยตรง เช่น ผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู และ ผู้ที่รับประทานเนื้อหมูดิบ เป็นต้น
2. กลุ่มที่เสี่ยงจะมีอาการป่วยรุนแรงหากติดเชื้อ ได้แก่ ผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ไต มะเร็ง หัวใจ ผู้ที่เคยตัดม้ามออก
3. การสัมผัสเนื้อหมู เลือดดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ ของหมูที่ป่วย
อาการโรคไข้หูดับ เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะเวลาฟักตัว 3-5 วัน มีอาการ ดังนี้
1. เวียนหัวจนทรงตัวไม่ได้
2. ปวดหัวอย่างรุนแรง
3. ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ
4. อาเจียน
5. หูหนวก
6. คอแข็ง
7. ท้องเสีย
กรณีที่เชื้อติดเข้าสู่กระแสเลือด จะส่งผลกระทบไปถึงเยื่อหุ้มสมอง จะทำให้เกิดอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ม่านตาอักเสบ ประสาทหูชั้นในทั้ง 2 ข้าง จะทำให้เกิดอาการเป็นหนองบริเวณปลายประสาทรับเสียงและประสาททรงตัว จึงทำให้เกิดอาการหูดับ หูตึง จนถึงขั้นทำให้เกิดอาการหูหนวกตามมาในที่สุด
วิธีป้องกันโรคไข้หูดับ ได้แก่
1. ปรุงอาหารที่ทำจากเนื้อหมูให้สุกจนทั่วต้องไม่มีสีแดง
2. ควรเลือกซื้อเนื้อหมูที่ไม่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์
3. ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรค โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้า บู๊ทยาง สวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน
4. หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด
5. ล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง
ในการนี้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 มีความห่วงใยต่อข้าราชการทหาร ในสังกัดกองทัพภาคที่ 3 และพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ต่อโรคดังกล่าว ขอความร่วมมือประชาชนให้ระมัดระวังเรื่องการประกอบอาหารและรับประทานอาหารดังกล่าว โดยขอให้เน้นการรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ใหม่ และสะอาด โดยเฉพาะเนื้อหมูที่ชำแหละกันเอง ภานในหมู่บ้าน และนำมารับประทานดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ หลู้หมูดิบ ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านที่มีการใส่เลือดหมูดิบผสม หรือการปิ้งย่างไม่สุก ทำให้เสี่ยงโรคไข้หูดับ เป็นอันตรายแก่ชีวิตได้
ทั้งนี้ หากพบว่าตนเองหรือคนรอบข้างมีอาการบ่งชี้ หรือสงสัยว่ามีภาวะหรืออาการขั้นต้น ขอให้ได้ไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือ หรือโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อคัดกรอง วินิจฉัย และรักษาต่อไป