ช่วยเเชร์ จ้า .....

วันที่ 16 กันยายน 2564 กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 แถลงข่าวประชาสัมพันธ์ ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 150 ศูนย์เสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พันเอก นายแพทย์ วิโรจน์ ชนม์สูงเนิน รองโฆษกกองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 เป็นผู้แถลงข่าวฯ มีสาระสำคัญดังนี้

จากข้อมูลของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล : โรคเมลิออยโดสิส เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ Burkholderia pseudomal lei (B. pseudomallei) ก่อให้เกิดอาการหลายลักษณะ ได้แก่ ติดเชื้อที่ผิวหนัง ติดเชื้อในปอด ติดเชื้อในกระแสเลือด และติดเชื้อในอวัยวะภายใน (ตับ ไตสมอง กระดูก) รายละเอียดดังนี้

1. การติดเชื้อผ่านทางผิวหนัง อาจทำให้เกิดอาการแผลเรื้อรัง เกิดฝีหรือหนองตามผิวหนัง และอาจมีตุ่มขึ้น เป็นที่อยู่ของเชื้อแบคทีเรีย หากรับเชื้อผ่านทางน้ำลาย เช่น การรับประทาน จะทำให้ติดเชื้อที่ต่อมน้ำลาย มีลักษณะบวมขึ้นมาเป็นฝีหรือหนอง หรืออาจบวมบริเวณต่อมน้ำเหลืองที่คอ มีอาการกดเจ็บได้
2. การติดเชื้อในปอด จะทำให้มีอาการไข้ขึ้น และอาการทางเดินหายใจ ไอ มีเสมหะ หากนำเสมหะ มาตรวจดูอาจพบเชื้อได้ และหากเอ็กซเรย์ที่ปอดอาจพบก้อนหนอง บางครั้งแพทย์สับสนระหว่างวัณโรค
3. การติดเชื้อในกระแสเลือด เชื้อสามารถเข้าทางผิวหนังหรือปอด เช่น กรณีที่มีบาดแผล เชื้ออาจเข้าทางบาดแผลและติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ความดันโลหิตต่ำ ช็อค เป็นฝีในตับหรือในม้าม สามารถเสียชีวิตได้ภายใน 2-3 วัน หากได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง นอกจากการติดเชื้อตามที่กล่าวมา ยังมีการติดเชื้อชนิดเรื้อรังอีกหนึ่งประเภทในโรคเมลิออยโดสิส
ความอันตรายของโรคเมลิออยโดสิส ได้แก่
1. การวินิจฉัยโรคช้าเกินไปทำให้รักษาไม่ทันเวลา ส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตตามมา เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด การเกิดภาวะไตวาย หรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ทำให้อวัยวะอื่นทำงานบกพร่องไป การได้รับยาไม่ถูกชนิดเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความรุนแรงของโรคได้
2. ตัวเชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง ได้แก่ ผ่านทางผิวหนัง เช่น หากมีบาดแผลและเดินบนดินหรือน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ ทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ผ่านทางลมหายใจ กรณีที่มีการฟุ้งของฝุ่นหรือดินที่มีเชื้ออยู่และสูดดมเข้าไป ก่อให้เกิดการติดเชื้อที่ปอด จะส่งผลให้เกิดอาการปอดอักเสบ
3. ในคนดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคเมลิออยโดสิส หากสัมผัสไปโดนสารคัดหลั่งก็มีโอกาสติดเชื้อได้ รวมถึงผู้ที่ดูแลวัวหรือควายซึ่งเป็นสัตว์ที่สามารถป่วยเป็นโรคเมลิออโดสิสได้ มีความเสี่ยงเช่นกัน สำหรับเชื้อที่อยู่ในซากสัตว์ที่ตายไปแล้วและถูกฝัง เชื้อจะคงอยู่ในดินบริเวณนั้นและอยู่ตลอดไป หากมีการสัมผัสที่ดินบริเวณนั้นก็มีโอกาสได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย
สำหรับกลุ่มเสี่ยงต่อโรคเมลิออยโดสิส ได้แก่
ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโลหิตจางหรือทาลัสซีเมีย ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยเอชไอวี คนไข้โรคมะเร็งต่างๆ และกลุ่มเกษตรกรที่ต้องสัมผัสกับดินและน้ำด้วยเท้าเปล่า ขอแนะนำคือพยามสวมใส่รองเท้าบูทหากเป็นไปได้ หรือถ้าหากหลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าบนดินและน้ำไม่ได้ พยายามอย่าปล่อยให้เท้ามีบาดแผล และควรทำความสะอาดให้ดีหลังเดินบนดินและน้ำ หากมีไข้ควรรีบพบแพทย์แต่แรกอย่าปล่อยทิ้งไว้นาน เพื่อการรักษาที่ทันเวลา ป้องกันอาการรุนแรงที่เป็นอันตราย

โรคเมลิออยโดสิส สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากมีการวินิจฉัยถูกต้องตั้งแต่ระยะแรก รักษาโดยการให้ยาปฏิชีวนะใน 2 สัปดาห์แรกด้วยวิธีฉีด หลังจากนั้นแพทย์จะให้ยาชนิดกินต่อไปเป็นเวลา 5 เดือน หากมีภาวะแทรกซ้อนอาจให้ยาเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสม
ในการนี้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 และแพทย์ทหาร จึงมีความห่วงใยต่อข้าราชการทหาร ในสังกัดกองทัพภาคที่ 3 และพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ต่อโรคภัยดังกล่าว ซึ่งหากพบว่าตนเองหรือคนรอบข้างมีอาการบ่งชี้ หรือสงสัยว่ามีภาวะหรืออาการขั้นต้น ขอให้ได้ไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือ หรือโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อคัดกรอง วินิจฉัย และรักษาต่อไป

511 เยี่ยมชมหน้านี้ทั้งหมด 2 เยี่ยมชมวันนี้

By Aui

error: สวัสดีค่ะ