วันที่ 1 กันยายน 2563 กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 แถลงข่าวประชาสัมพันธ์ ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 97 ณ หน่วยฝึกทหารใหม่ กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 104 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 4 ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พันเอก รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ โฆษกกองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 พร้อมด้วย พันเอก นายแพทย์ วิโรจน์ ชนม์สูงเนิน รองโฆษกฯ เป็นผู้แถลงข่าวฯ มีสาระสำคัญดังนี้.-
ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศแจ้งเตือนภัย พายุระดับ 3 (โซนร้อน) “ฮีโกส” เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2563 ซึ่งจะส่งผลกระทบในพื้นที่บริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในช่วงวันที่ 20 – 23 สิงหาคม 2563 ทั้งนี้ จากผลกระทบของอิทธิพลพายุดังกล่าว ทำให้มีฝนตกหนักและเกิดภาวะน้ำป่าไหลหลาก, น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำล้นตลิ่ง ในพื้นที่ 10 จังหวัดภาคเหนือ (สุโขทัย, แพร่, น่าน, อุตรดิตถ์, พิษณุโลก,แม่ฮ่องสอน, ลำปาง, เชียงใหม่, พะเยา และตาก) นั้น
แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 ได้มอบหมายให้หน่วยทหาร และโรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่ง ในพื้นที่ภาคเหนือ เข้าช่วยเหลือประชาชนกว่า 11,352 ครัวเรือน ที่ประสบภัยพิบัติ และได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อน “ฮีโกส” โดยเร่งด่วน นอกจากนี้ ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ เพื่อเฝ้าระวังโรคที่มักจะเกิดการแพร่ระบาดภายหลังน้ำท่วมที่สำคัญ ได้แก่
1. โรคตาแดง
1.1 อาการของโรค ดังนี้.-
– แสบตา น้ำตาไหล
– คันตา หรือคันบริเวณเปลือกตา
– เปลือกตาบวม หรือเปลือกตาอักเสบและลอก
– มีขี้ตาเหลวหรือเป็นก้อนแข็ง
– ตาพร่า มองเห็นภาพไม่ชัด
– ขนตาร่วง
– ปวดศีรษะ มีไข้ และไอ
1.2 วิธีป้องกัน ล้างตาด้วยน้ำสะอาด ไม่ควรขยี้ตา และแยกผู้ป่วยตาแดงออกจากผู้อื่น
2. โรคไข้เลือดออก
2.1 อาการของโรค ดังนี้.-
– ไข้สูงลอย : ไข้ 39 – 40 องศาเซลเซียส มักมีหน้าแดง โดยมากไม่ค่อยมีอาการน้ำมูกไหลหรือไอ เด็กโตอาจมีอาการปวดเมื่อยตามตัวและปวดศีรษะ อาการไข้สูงมักมีระยะ 4 – 5 วัน
– อาการเลือดออก : เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน เลือดออกในกระเพาะ โดยจะมีอาการอาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายดำ มีจุดเลือดออกตามตัว
– ความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือด หรือช็อก : มักจะเกิดช่วงไข้จะลด โดยผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น รอบปากเขียว อาจมีอาการปวดท้องมาก ก่อนจะมีอาการช็อก ชีพจรเบาเร็ว ความดันต่ำ
2.2 วิธีป้องกัน กำจัดลูกน้ำ และแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ระวังอย่าให้ยุงกัด ทายากันยุง นอนในมุ้ง
3. โรคไข้ฉี่หนู
3.1 อาการของโรค ดังนี้.-
– คลื่นไส้ อาเจียน
– ปวดศีรษะ มีไข้สูง หนาวสั่น
– ปวดกล้ามเนื้อหรือข้อต่อ
– เจ็บช่องท้อง
– รู้สึกเหนื่อยล้า
– ตาแดงหรือระคายเคืองที่ตา
– มีผื่นขึ้น
– ไม่อยากอาหาร
– ท้องเสีย
3.2 วิธีป้องกัน หลีกเลี่ยงการลุยน้ำ ลุยโคลนเป็นเวลานาน หากมีบาดแผลความสวมชุดป้องกัน เช่น ถุงมือยาง รองเท้าบู๊ท
4. โรคอุจจาระร่วง อหิวาตกโรค
4.1 อาการของโรค ดังนี้.-
– โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีอาการอยู่ 1 – 6 วัน หากอุจจาระร่วงจากอาหารเป็นพิษ มักมีอาการปวดท้องร่วมกับถ่ายอุจจาระเหลว คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว โรคอุจจาระร่วง จะมีการถ่ายอุจจาระเหลวจำนวนมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน ในทารกและเด็กเล็ก ๆ อาจมีไข้ต่ำ ๆ เป็นหวัด มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และถ่ายอุจจาระเหลวตามมา
4.2 วิธีป้องกัน รับประทานอาหารปรุงสุก ดื่มน้ำสะอาด ล้างมือก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ มีอาการบ่งชี้ของโรคใกล้เคียงกับลักษณะดังกล่าว ขอให้ได้ไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลทหาร หรือโรงพยาบาลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้านโดยเร็ว หรือสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422