วันที่ 23 กันยายน 2564 กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 แถลงข่าวประชาสัมพันธ์ ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 151 ศูนย์เสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พันเอก นายแพทย์ วิโรจน์ ชนม์สูงเนิน รองโฆษกกองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 เป็นผู้แถลงข่าวฯ มีสาระสำคัญดังนี้
จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค ได้เตือนประชาชนที่เก็บหรือซื้อเห็ดป่าในช่วงหน้าฝนนี้ ให้ระมัดระวังเห็ดที่มีพิษ หากกินเข้าไปเสี่ยงต่อการเสียชีวิต จากสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดพิษในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 6 มิถุนายน 2564 พบผู้ป่วย 218 ราย พบในกลุ่มอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปมากที่สุด รองลงมาอายุ 45-54 ปี และอายุ 35-44 ปี ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ตามลำดับ โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานพบผู้เสียชีวิตจากการรับประทานเห็ดพิษในแหล่งเดียวกัน มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในฤดูฝน ย้ำหากไม่แน่ใจ หรือสงสัยว่าจะเป็นเห็ดมีพิษ ไม่ควรนำมาปรุงอาหาร
จึงมีความห่วงใยต่อประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบการรับประทานเห็ดป่าที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เนื่องจากเห็ดป่ามีทั้งเห็ดที่สามารถนำมากินได้และเห็ดที่มีพิษซึ่งมีลักษณะคล้ายกันมาก อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด เมื่อนำมาปรุงเป็นอาหารรวมกับเห็ดชนิดอื่น จะอาจทำให้เกิดพิษได้ โดยเฉพาะเห็ดที่ยังดอกตูม จะแยกชนิดของเห็ดไม่ได้ว่าเป็นเห็ดมีพิษหรือเห็ดที่สามารถกินได้ เช่น เห็นไข่ห่านเหลือง และเห็ด ไข่ห่านขาว เห็ดทั้งสองชนิดขณะเป็นดอกตูม ลักษณะจะเหมือนเห็ดระโงกหินทั้ง ขนาด สี ก็ยังเหมือนกันอีกด้วย จึงขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังเห็ดที่มีลักษณะดอกตูมมาปรุงเป็นอาหาร ถึงแม้จะเพียงดอกเดียวก็ตาม โดยพิษของเห็ดที่กินเข้าไปจะไปสะสมอยู่ในตับ ทำให้ตับวายและอาจเสียชีวิตได้ใน 14 วัน เห็ดป่าในกลุ่มเห็ดระโงกพิษ ซึ่งมีชื่อเรียกตามภาษาท้องถิ่นต่างไปในแต่ละภาค ในภาคเหนือเรียก “เห็ดไข่ห่าน” หรือ เห็ดโม่งโก้ง” ซึ่งมีรูปร่างคล้ายคลึงกันมากกับเห็ดที่กินได้ โดยเฉพาะเห็ดดอกอ่อนที่มีลักษณะเป็นก้อนกลมรีคล้ายไข่ที่ดอกยังบานไม่เต็มที่ ทั้งนี้ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ทดสอบความเป็นพิษของเห็ด เช่น การจุ่มช้อนเงินลงไปในหม้อต้มเห็ด การนำไปต้มกับข้าวสาร หรือใช้ปูนกินหมากป้ายที่ดอกเห็ด ถ้าเป็นเห็ดมีพิษจะกลายเป็นสีดำ ซึ่งวิธีเหล่านี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการอ้างอิงในการใช้ทดสอบพิษกับเห็ดกลุ่มนี้ได้ โดยเฉพาะเห็ดระโงกที่มีพิษทนต่อความร้อน แม้จะปรุงให้สุกก็ไม่สามารถทำลายพิษนั้นได้ ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเห็ดร่วมกับดื่มสุรา เพราะฤทธิ์จากแอลกอฮอล์จะทำให้พิษเห็ดแพร่ กระจายไปอย่างรวดเร็วและทำให้อาการรุนแรงขึ้นด้วย หากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียหลังจากกินเห็ดป่าเข้าไป ไม่ควรล้วงคอหรือให้กินไข่ขาวดิบเพื่อกระตุ้นให้อาเจียน เพราะอาจทำให้เกิดแผลในคอ และการกินไข่ขาวดิบจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยท้องเสียเพิ่ม หรือติดเชื้อได้ ให้รีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการรับประทานเห็ดโดยละเอียด พร้อมกับนำตัวอย่างหรือภาพถ่ายเห็ดพิษไปด้วย
ในการนี้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 และแพทย์ทหาร จึงมีความห่วงใยต่อข้าราชการทหาร ในสังกัดกองทัพภาคที่ 3 และพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ต่อการรับประทานเห็ดพิษดังกล่าว ซึ่งหากพบว่าตนเองหรือคนรอบข้างมีอาการบ่งชี้ หรือสงสัยว่ามีภาวะหรืออาการขั้นต้น ขอให้ได้ไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือ หรือโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อคัดกรอง วินิจฉัย และรักษาต่อไป
529 เยี่ยมชมหน้านี้ทั้งหมด 2 เยี่ยมชมวันนี้