ในช่วงหน้าแล้งของประเทศไทย ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนเมษายนของทุกปี มักพบการเพิ่มขึ้นของฝุ่นละออง โดยเฉพาะในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ สาเหตุเนื่องจากสภาพอากาศส่วนใหญ่จะเป็นช่วงที่หนาวเย็น และแห้งแล้งต่อเนื่องกัน ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าว เกษตรกรจะทำการเผาเศษวัสดุเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับทำการเกษตรในช่วงฤดูฝน ส่งผลให้หลายพื้นที่เกิดภาวะไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง ซึ่งส่งผลกระทบความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน สุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และสามารถควบคุมผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ทรัพยากรธรรมชาติและประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแบ่งการจัดตั้งเป็น 3 ระดับ ดังนี้
1. ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับชาติ /โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบ
2. ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับภาค/ โดยมี กองทัพภาคที่ 3 รับผิดชอบ
3. ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับจังหวัด/ โดยมี จังหวัดในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ รับผิดชอบ
โดยใช้แนวทางการแก้ไขปัญหา โดยยึดหลัก 5 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1) การประชาสัมพันธ์ 2) การป้องกันไฟป่า 3) การจัดการเชื้อเพลิง 4) การมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาไฟป่า และ 5) การดับไฟป่า
ซึ่งจากการดำเนินการในปี 2563 ที่ผ่านมา ได้บูรณาการการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและ ฝุ่นละอองภาคเหนือ โดยแยกเป็น 3 ขั้น ประกอบด้วย 1) ขั้นเตรียมการ 2) ขั้นรับมือ (ก่อนวิกฤต กับช่วงวิกฤต) และ 3) ขั้นฟื้นฟูและสร้างความยั่งยืน
ในการนี้ พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ได้มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้สั่งการให้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3 จัดตั้งกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า (บก.คฟป.ทภ.3 สน.) ขึ้น ณ อาคารยอดทัพ กองพลทหารราบที่ 7 อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ มีหน้าที่ ในการอำนวยการและบูรณาการ การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองและดับไฟป่า รวมถึงการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ และสนับสนุนการประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และป้องกันให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด รวมถึงวางแผนการฟื้นฟู และสร้างความยั่งยืนต่อไป
711 เยี่ยมชมหน้านี้ทั้งหมด 2 เยี่ยมชมวันนี้