ช่วยเเชร์ จ้า .....

วันที่ 6 พฤษภาคม 2564 กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 แถลงข่าวประชาสัมพันธ์ ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 131 ณ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พันเอก รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ โฆษกกองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 พร้อมด้วย พันเอก นายแพทย์ วิโรจน์ ชนม์สูงเนิน รองโฆษกฯ, พันโท วรปรัชญ์ กาศสกุล และ พันโท หญิง บุณฑริกา ฑีฆวาณิช ผู้ช่วยโฆษกฯ เป็นผู้แถลงข่าวฯ มีสาระสำคัญดังนี้

ตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ กองทัพภาคที่ 3 จัดตั้ง กองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า (บก.คฟป.ทภ.3 สน.) ณ อาคารยอดทัพ กองพลทหารราบที่ 7 อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละออง ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา ให้เป็นผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมนั้น
การดำเนินการในห้วงระยะเวลาดังกล่าว กองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า ได้บูรณาการการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ โดยแยกเป็น 3 ขั้นตอนการปฏิบัติ ได้แก่ 1) ขั้นเตรียมการ 2) ขั้นรับมือ (ก่อนวิกฤต กับช่วงวิกฤต) และ 3) ขั้นฟื้นฟูและสร้างความยั่งยืน
โดยการปฏิบัติที่สำคัญ ในขั้นการเตรียมการ และขั้นรับมือก่อนวิกฤต นั้น จะเป็นการปฏิบัติที่สำคัญ
ในห้วง 1 ธันวาคม 2563 – 28 กุมภาพันธ์ 2564 ได้มีการดำเนินการตามมาตราการต่างๆ ดังนี้
1. การประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน จำนวน 655 ครั้ง ทั้งประชาสัมพันธ์ด้วยภาษาไทย, ภาษาเหนือ, ภาษาพื้นเมือง และภาษาชนเผ่า จนสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่อย่างดียิ่ง
2. การสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นดิน จำนวน 82 ครั้ง
3. การสร้างแนวป้องกันไฟป่า จำนวน 255 ครั้ง
4. การลาดตระเวนป้องปราม ป้องกันผู้ลักลอบเผาป่า จำนวน 585 ครั้ง
5. การดำเนินงานควบคุมไฟป่า และไฟไหม้ในพื้นที่ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในห้วงแรก จำนวน 470 ครั้ง
6. ได้รับการสนับสนุนอากาศยานที่ใช้ในการปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ภูเขาสูงชัน เข้าถึงยากลำบาก ได้แก่
6.1 เครื่องบินใช้งานทั่วไป แบบ U-17 จาก กองทัพบก บ.ท.17 (U-17)
6.2 เฮลิคอปเตอร์ AS-350 B2 จาก กรมฝนหลวงและการบินเกษตร
6.3 เฮลิคอปเตอร์ AS-350 B2 จาก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
6.4 เฮลิคอปเตอร์ KA – 32 จาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
6.5 อากาศยานไร้คนขับ UAV จาก กองทัพอากาศ
6.6 โดรน จำนวน 70 ตัว จาก ภาคประชาชนจิตอาสา
6.7 โดรน จำนวน 4 ตัว จาก องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่
ครั้นถึงห้วงเวลาวิกฤตที่สำคัญนั้น กองทัพภาคที่ 3 และทุกภาคส่วนได้ร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาและร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ ในการลดปัญหาไฟป่าและหมอกควันภาคเหนืออย่างจริงจัง จึงได้วางมาตรการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ให้เข้มข้นมากขึ้น ได้แก่ กำหนดให้มีการปิดป่าในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ จำนวน 61 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 30 เมษายน 2564, การขอให้ทุกจังหวัดเร่งรัดการควบคุมไฟป่าและการเผาในพื้นที่โล่งอย่างเข้มงวด อีกทั้ง ประกาศให้ภาคเหนือตอนบน เป็นพื้นที่ “ห้ามเผาโดยเด็ดขาด” หากมีความจำเป็นต้องแจ้งเจ้าหน้าที่อำเภอ หรือจังหวัดก่อน เพื่อให้มีการเฝ้าระวัง และควบคุมเพลิงไม่ให้ลามไปยังพื้นที่ป่าและดับไฟให้เรียบร้อยเมื่อเสร็จภารกิจ รวมทั้งการนำเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมเพลิงทันทีที่เกิดไฟป่า และการนำอากาศยาน (U-17 และ KA-32) บรรทุกน้ำเข้าดับไฟในพื้นที่ป่าภูเขา กว่า 370 เที่ยวบิน มีปริมาณน้ำ จำนวน 1,129,000 ลิตร ทำให้สถานการณ์ที่วิกฤตสามารถคลี่คลายได้อย่างรวดเร็ว


ทั้งนี้ จากมาตรการและการบูรณาการจากทุกภาคส่วน ที่ได้ร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละออง ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ อย่างจริงจังนั้น ทำให้จุดความร้อนสะสมในปี 2564 (ณ วันที่ 30 เมษายน 2564) ลงลด 76,362 จุด หรือร้อยละ 58.19 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน จะประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืนและถาวรได้นั้น ต้องเกิดจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการแก้ไขปัญหา โดยจะต้องประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน เกิดจิตสำนึกมีความรักและหวงแหนป่าไม้ในบ้านเกิด รวมถึงให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ตลอดจนต้องมีการวางแผนในให้เป็นระบบแบบแผนตามลำดับขั้นตอนได้อย่างมั่นคงและทันท่วงที

406 เยี่ยมชมหน้านี้ทั้งหมด 2 เยี่ยมชมวันนี้

By Aui

error: สวัสดีค่ะ