วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ป.ป.ช. ภาค 5 โดยนายสุชาติ กรวยกิตานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 5 ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. พร้อมด้วย นายนิรันดร ศรีภักดี ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเชียงใหม่
ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมประชุมหารือและติดตามการบังคับใช้กฎหมายในการแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอยและบริเวณโดยรอบ (บริเวณที่เรียกกันว่าม่อนแจ่มและพื้นที่ใกล้เคียง) เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ณ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่)โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้มอบหมายให้ นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมประชุมและเป็นประธานในการประชุมครั้งนี้
หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้รายงานความคืบหน้าการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการ เพื่อหารือและหาทางออกร่วมกัน โดยได้ข้อยุติว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ริม จากการตรวจสอบภาพถ่ายทางอากกาศ พบว่า อยู่อาศัยหลังประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ริม จึงจะต้องอยู่อาศัยทำกินภายใต้มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2542 กรมป่าไม้ โดยสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่) ได้ไปดำเนินการภายใต้โครงการจัดการทรัพยากรที่ดินป่าไม้แล้วเสร็จเมื่อประมาณปี พ.ศ.2552 โดยมีราษฎรที่ได้รับการรังวัดในพื้นที่โครงการหลวงหนองหอย จำนวน 696 ราย 984 แปลง เนื้อที่รวมประมาณ 2,799.08 ไร่ ราษฎรกลุ่มนี้จะต้องอยู่อาศัยทำกินภายใต้เงื่อนไขอย่างเคร่งครัด เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ มีความอ่อนไหวต่อระบบนิเวศน์เป็นอย่างมาก การอยู่อาศัยทำกินต้องไม่กระทบกระเทือนต่อระบบนิเวศน์ และกำหนดให้เจ้าหน้าที่หาพื้นที่รองรับแล้วทำการอพยพราษฎรเหล่านั้นออกจากพื้นที่ หากไม่สามารถอพยพเคลื่อนย้ายราษฎรออกจากพื้นที่ได้ให้ดำเนินการควบคุมพื้นที่ไม่ให้มีการ บุกรุก บุกรุกเพิ่มเติม ห้ามซื้อขาย เปลี่ยนมือ หรือเปลี่ยนแปลงผู้ถือครองไม่ว่ากรณีใดก็ตาม จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกรมป่าไม้ไม่สามารถหาพื้นที่รองรับเพื่ออพยพเคลื่อนย้ายราษฎรออกตากพื้นที่ได้ ราษฎรจึงต้องอยู่อาศัยภายใต้เงื่อนไขอย่างเคร่งครัด
สำหรับการพิจารณาดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่) โดยนายกมล นวลใย ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่) ชี้แจงต่อที่ประชุมความว่า คณะเจ้าหน้าที่ฯ ได้ลงพื้นที่สำรวจตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.2562 แยกกลุ่มราษฎรที่เปลี่ยนแปลงการถือครองมาประกอบกิจการบ้านพักตากอากาศหรือรีสอร์ทออกจากกลุ่มที่ยังคงทำการเกษตรตามเดิม และพยายามที่จะหาแนวทางป้องกันเพื่อหยุดยั้งการปลูกสร้างสถานประกอบการบ้านพักที่ปลูกสร้างขึ้นอย่างรวดเร็ว จนควบคุมอยู่ที่ 122 ราย และตรวจสอบในเชิงลึกลงไปถึงแนวเขตพื้นที่การครองครอง ตัวผู้ครอบครอง รวมไปถึงผู้แสดงตนเป็นเจ้าของสถานประกอบการ พบว่าในรายที่ที่บุกรุก หรือบุกรุกเพิ่มเติม ร่วมทุนกับบุคคลอื่น (นอมินี) ซื้อขายเปลี่ยนมือ มีจำนวน 36 ราย จึงได้จับกุมดำเนินคดีในฐานความผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ และได้ออกคำสั่งทางปกครอง เพื่อบังคับรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่กระทบกระเทือนต่อระบบนิเวศน์ออกไปจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยอำเภอแม่ริมได้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการโรงแรม และหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นได้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร อันเป็นการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายร่วมกันเพื่อให้บรรลุผล และจังหวัดเชียงใหม่ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อบูรณาการบังคับใช้กฎหมายและหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ราษฎรในพื้นที่กลับปฏิเสธแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ไม่ยอมรับเงื่อนไขการจัดที่ดินทำกินตามแนวทางของ คทช. และไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการหลวงซึ่งมีแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ
ในที่ประชุมมีข้อความห่วงใยและเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่บูรณาการการบังคับใช้กฎหมายร่วมกัน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาที่ค้างคามาเป็นเวลานาน และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย จึงจะต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด สำหรับสถานประกอบการ จำนวน 25 ราย จาก 36 ราย ที่ถูกดำเนินคดี แต่ยังมิได้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ที่ประชุมมีมติจะดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย ว่าด้วยการควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยการโรงแรม และกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ เนื่องจากต้องคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการสถานประกอบการที่ทางราชการไม่ได้รับรองมาตรฐาน ทั้งนี้ หน่วยงานของภาครัฐจะไม่ทอดทิ้งพี่น้องประชาชนเด็ดขาด จะเร่งดำเนินการเพื่อให้ประชาชนทุกคนบนม่อนแจ่มมีที่ดินทำกิน อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐ ต่อไป